เทวีอโฟรไดที่ (Aphrodite) หรือ วีนัส (Venus) ถือเป็นเทวีองค์สำคัญที่มีความสัมพันธ์กับมนุษย์มากที่สุด เนื่องจากเทวีองค์นี้เป็นเจ้าแม่ผู้ครองความรักและความงาม มีอำนาจในการสะกดให้เทพและมนุษย์ทั้งปวงเกิดความลุ่มหลง รวมไปถึงสามารถลบเลือนสติปัญญาของบุคคลผู้ที่ฉลาดให้กลายเป็นคนโฉดเขลาไปได้ในทันที และเจ้าแม่ก็จะคอยดูถูกและหัวเราะเยาะเย้ยผู้คนที่ตกอยู่ในอำนาจของเจ้าแม่อยู่เสมอด้วย
ต้นกำเนิดของเทวีอโฟร์ไดค่อนข้างยาวนาน โดยอาจจะเลยไปไกลกว่าตำนานของกรีกเสียอีก ทั้งนี้ก็เพราะเทวีอโฟรไดมีต้นกำเนิดมาจากดินแดนทางซีกโลกตะวันออก และถือกันว่าเจ้าแม่องค์นี้เป็นเทวีองค์แรกเริ่มของชนชาติฟีนีเซีย ที่เข้ามาตั้งรกรากอาณานิคมอย่างมากมายในดินแดนตะวันออกกลาง ตามตำนานที่เล่ากันมาบอกเอาไว้ว่าเจ้าแม่ถือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเทวีของชาวอัสสิเรียและบาบิโลเนีย ที่มีชื่อเรียกว่า อีชตาร์ (Ishtar) และก็ยังคงถือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเทวีของชาวไซโร-ฟีนิเซี่ยน ที่มีชื่อเรียกว่า แอสตาร์เต (Astarte) อีกด้วย ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ จึงทำให้เทวีอโฟรไดถือเป็นเทวีที่มีความสำคัญอย่างมากมาแต่ครั้งบรรพกาล
ตำนานมหากาพย์อิเลียดของโฮเมอร์ ยกย่องนับถือให้เทวีอโฟรไดเป็นเทพธิดาของซูส และมีมารดาเป็นนางอัปสรไดโอนี (Dione) แต่บทกวีนิพนธ์ที่พบเจอในชั้นหลัง ๆ กลับกล่าวว่า เทวีอโฟรไดเกิดขึ้นมาจากฟองทะเล เนื่องจากคำว่า Aphros ที่เป็นส่วนหนึ่งของชื่อของชื่อเจ้าแม่มีความหมายในภาษากรีกว่า “ฟอง” ดังนั้น จึงมีความเชื่อกันต่อมาว่า แหล่งกำเนิดของเจ้าแม่น่าจะอยู่ในทะเลแถบเกาะไซเธอรา (Cythera) ต่อจากนั้น เจ้าแม่ก็ถูกคลื่นซัดพาตัวมาจนถึงเกาะไซพรัส (Cyprus) ทำให้เกาะทั้งสองแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับเจ้าแม่ และบางครั้งก็ทำให้เจ้าแม่มีชื่อเรียกอีกสองชื่อตามชื่อเกาะทั้งสองแห่งนี้ว่า ไซเธอเรีย (Cytherea) และ ไซเพรียน (Cyprian)
จากที่บอกไปแล้วว่า เทวีอโฟรไดท์ถูกคลื่นพัดพาร่างไปติดบนเกาะไซพรัส ซึ่งในขณะนั้นก็มีฤดูเทวืผู้รักษาทวาร แห่งเขาโอลิมปัสช่วยลงมารับพาตัวเจ้าแม่เดินทางขึ้นไปยังเทพสภาเมื่อไปถึงเทพสภา เทพทุกองค์ต่างตกตะลึงใน ความงามของเจ้าแม่เป็นอย่างมาก และทุกองค์ก็ต่างหมายปองอยากได้เจ้าแม่อโฟรไดท์มาเป็นคู่ครอง ไม่เว้นแม้แต่เทพซูส ที่ก็มีความหวังอยากที่จะได้ตัวเจ้าแม่เช่นกัน แต่เนื่องจากเจ้าแม่นั้นไม่ยินดีจะมาเป็นชายาด้วย ทำให้ไท้เธอโปรดประทานเจ้าแม่อโฟรไดท์ให้แก่ฮีฟีสทัส (Hephaestus) ผู้เป็นเทพรูปทรามที่มีรูปร่างไม่สมส่วน และมีบาทแปเป๋ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการบำเหน็จรางวัลที่ฮีฟีสทัสประกอบความดีความชอบในการถวายอสนียบาต และก็ถือเป็นการลงโทษเจ้าแม่ฮีฟีสทัสที่ไม่แยแสในตัวซูสไปด้วยในเวลาเดียวกัน
แต่อย่างไรก็ตาม เทพองค์แรกที่เจ้าแม่ฮีฟีสทัสร่วมพิศวาสอภิรมย์ด้วย กลับเป็น เทพเอรีส (Ares) หรือ มาร์ส (Mars) ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าแห่งการสงคราม และเป็นเทพบุตรของซูสเทพบดีกับเจ้าแม่ฮีรา โดยทั้งคู่ได้เป็นแอบคบชู้กัน และทำให้เทวีอโฟรไดท์ให้กำเนิดบุตรสององค์กับธิดาหนึ่งองค์ออกมา โดยลูกๆของเทวีอโฟรไดท์มีชื่อว่า ‘อีรอส (Eros) หรือ คิวพิด (Cupid)’ ‘แอนติรอส (Anteros)’ และ ‘เฮอร์ไมโอนี (Hermione) หรือ ฮาร์โมเนีย (Harmonia)’ ตามลำดับ โดยนางเฮอร์ไมโอนีได้แต่งงานกับแคดมัส (Cadmus) ผู้ที่ทำหน้าที่สร้างเมืองธีบส์ขึ้นมา และเขายังเป็นพี่ชายของนางยุโรปา ผู้ที่ถูกซูสลักพาไป ดังที่เคยได้เล่ากล่าวมาแล้วในตอนต้น
เรื่องราวความรักของเทวีอโฟร์ไดท์ผู้เป็นเทพีแห่งความงามยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ เพราะด้วยความงดงามของเจ้าแม่ ทำให้เธอเที่ยวหว่านเสน่ห์ไปยังเทพหรือมนุษย์ไปทั่ว ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่เทวีอโฟรไดท์ไปมีสัมพัทธ์เสน่หากับเทพเฮอร์มีส จนให้กำเนิดโอรสองค์หนึ่งที่มีชื่อว่า เฮอร์มาโฟร์ดิทัส (Hermahroditus) ออกมา ส่วนในด้านความสัมพันธ์กับมนุษย์ธรรมดา เทวีอโฟร์ไดก็ยังเคยแอบไปมีสัมพันธ์แนบชิดกับบุรุษเดินดิน ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่เทวีอโฟรไดท์แอบไปชอบพอกับเจ้าชายแอนคิซีส (Anchises) ชาวโทรยัน จนให้กำเนิดโอรสครึ่งเทพครึ่งมนุษย์ออกมา ให้ให้ชื่อว่า เอนิแอส(Aenias) ซึ่งเขาผู้นี้ถือเป็นต้นตระกูลของชาวโรมันทั้งหมด และเรื่องที่โด่งดังอื้อฉาวมากที่สุด ก็คงจะเป็นเรื่องที่เทวีอโฟรไดท์แอบไปหลงรักกับอโดนิสผู้มีหน้าตาหล่อเหลาแห่งยุค ตามเรื่องราวที่จะเล่าดังต่อไปนี้
วันหนึ่ง ในขณะที่เจ้าแม่อโฟรไดท์กำลังเล่นหยอกล้ออยู่กับอีรอส ก็บังเอิญถูกศรของอีรอสสะกิดโดนที่อุระ และถึงแม้ว่าอุบัติเหตุครั้งนี้จะทำให้เกิดเป็นแผลเพียงเล็กน้อย แต่ด้วยอำนาจของพิษศรก็มากเพียงพอที่จะทำให้เจ้าแม่เกิดความผิดปกติด้วยอำนาจนี้ได้ และยังไม่ทันที่แผลจะหายดี เจ้าแม่ก็ได้บังเอิญพบกับ อโดนิส (Adonis) ผู้เป็นชายหนุ่มที่ร่อนเร่พเนจรอยู่ในป่า ด้วยอำนาจของศรอีรอสทำให้เจ้าแม่บังเกิดความพิสมัยในตัวของอโดนิส จนห้ามใจไว้ไม่อยู่ เจ้าแม่จึงรีบลงมาจากสวรรค์เพื่อมาตามหาอโดนิส เพื่อหวังที่จะได้ใกล้ชิดสนิทสนมกันไปตลอด ไม่ว่าอโดนิสจะไปทางไหน เจ้าแม่อโฟรไดท์ก็จะติดตามไปด้วยทุกทาง ด้วยความที่เทวีอโฟรไดท์รู้สึกหลงใหลและเป็นห่วงอโดนิสเอามากๆ จนไม่เป็นอันระลึกถึงสถานแห่งหนึ่งแห่งใดที่เคยโปรด ทำให้เทวีอโฟรไดท์เที่ยวติดตามอโดนิสไปในป่าตลอดเวลา แถมยังคอยตักเตือน พะเน้าพะนอเอาใจ และกำชับอโดนิสในการล่าสัตว์ทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เขาเสี่ยงภัยอันตรายมากเกินไป และยังบอกให้หลีกเลี่ยงสัตว์ใหญ่ และให้เขาล่าแต่สัตว์ตัวเล็กๆเท่าที่จะพอล่าได้เท่านั้น แต่ความรักครั้งนี้ของเจ้าแม่ที่มีต่ออโดนิสกลับเป็นความรักเพียงข้างเดียว เพราะเจ้าหนุ่มโดนิสไม่ได้มอบความรักตอบแก่เจ้าแม่เสียเลย ซึ่งคงเป็นเพราะอีรอสไม่ได้แผลงศรรักปักเข้าที่ชายหนุ่มด้วยละมั้ง ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ และด้วยเหตุผลที่อโดนิสไม่ได้รักเทวีอโฟรไดท์ตอบ จึงทำให้เขาไม่แยแสสนใจในคำกำชับตักเตือนของเจ้าแม่เลย และยังคงเที่ยวล่าสัตว์ใหญ่น้อยไปเรื่อยตามความต้องการของตน
ในวันหนึ่ง ขณะที่เจ้าแม่อโฟรไดท์จำเป็นต้องจากอโดนิสไปเพราะมีธุระ เจ้าแม่จึงทรงหงส์เหินบินเหาะไปในอากาศ ส่วนฝ่ายอโดนิสก็เดินทางไปล่าสัตว์ตามปกติ และได้พบกับหมูป่าแสนดุร้ายตัวหนึ่ง (บางตำนานเล่ากันว่า เทพเอเรสเสกหมูป่าตัวนี้ขึ้นมา เนื่องจากความหึงหวงในตัวของเทวีอโฟรไดท์ที่มีให้ต่ออโดนิส) เขาจึงตามล่าหมูป่าไปจนมันจนมุม ก่อนที่อโดนิสจะซัดหอกไปถูกร่างของหมูป่า แต่โชคร้ายที่หอกไม่ได้ปักเข้าที่ตำแหน่งสำคัญ จึงทำให้หมูป่าได้รับความเจ็บปวดและทวีความโหดร้ายมากขึ้น หมูป่าจึงตรงจึงรี่เข้าขวิดจนอโดนิสถึงแก่ความตายในที่สุด
เมื่อเจ้าแม่อโฟรไดท์ได้ยินเสียงร้องของอโดนิสขณะที่อยู่กลางอากาศ เจ้าแม่ก็ตัดสินใจชักรถเทียมหงส์กลับทันที เพื่อที่จะลงมายังพื้นปฐพีและรีบตรงปรี่เข้าหาอโดนิสทันที เจ้าแม่ก้มลงจุมพิตอโดนิสที่กำลังจะขาดใจตายด้วยความเจ็บปวด พร้อมทั้งครวญคร่ำรำพึงพันด้วยความรักสุดแสนอาลัย และทึ้งเกศาข้อนทรวงทำอาการต่าง ๆ ตามแบบที่ผู้คลุ้มคลั่งมักทำกัน เจ้าแม่รู้สึกว่าตนเองช่างโชคร้าย และรำพึงรำพันต่อเทวีครองผู้ครองชะตากรรม ว่าเหตุใดจึงต้องพลัดพลาดชายผู้เป็นที่รักของนางไป ความเจ็บช้ำครั้งนี้คล้ายกับการควักเอาดวงเนตรของเจ้าแม่ออกไปก็ไม่ปาน
หลังจากที่ความโศกเศร้าเริ่มจางหายไปแล้ว เจ้าแม่ก็เอื้อนเอ่นตั้งปณิธานขึ้นมาว่า “ถึงการณ์ดังนั้นก็อย่าคิดเลยว่า ผู้เป็นที่รักของข้าจะต้องอยู่ในยมโลกตลอดกาล หยาดโลหิตของอโดนิสผู้เป็นแก้วตาของข้า จงกลายเป็นบุปผชาติชนิดหนึ่ง เพื่อแสดงถึงความโศกเศร้าของข้า และให้ข้าได้ระลึกถึงเหตุการณ์อันเศร้าสลดครั้งนี้เป็นประจำปีเถิด” หลังจากเอ่ยปณิธานออกไปดังนั้นแล้ว เจ้าแม่ก็ปะพรมน้ำต้อยเกสรอันศักดิ์สิทธิ์ลงไปบนเม็ดเลือดของอโดนิส และทันใดนั้นเอง ก็ปรากฏเป็นพันธุ์ไม้ที่มีดอกสีแดงดั่งสีทับทิมผุดขึ้นมา และดอกไม้นั้นก็ถูกเรียกชื่อสืบต่อกันมาว่า “ดอกอโดนิส หรือ ดอกเออะเนมโมนิ (Anemone)” ที่มีความหมายว่า ดอกตามลม (หรือบางตำนานก็ว่าเป็นดอกกุหลาบนั่นเอง) ซึ่งมีเหตุผลมาจากธรรมชาติของลมที่ทำให้ดอกไม้ดอกนี้สามารถแย้มบานได้ และก็จะต้องมีช่วงเวลาที่พัดกลีบให้ร่วงหล่นไป ทำให้มีอายุอยู่ได้เพียงไม่นานแค่ 3-4 เดือนเท่านั้น
แรกเริ่มเดิมทีก่อนที่เทพีอโฟรไดท์ จะกลายมาเป็นเทวีแห่งความงามและความรัก เจ้าแม่เคยเป็นเทวีแห่งความสมบูรณ์มาก่อน โดยกล่าวกันว่าเมืองที่เคารพเจ้าแม่มากที่สุดมีชื่อว่า เมืองปาฟอสในไซปรัสและเมืองไซธีรา ซึ่งตั้งอยู่ในเกาะครีต นอกจากนั้น ยังมรวิหารที่มีชื่อเสียงด้านความโอ่อ่างดงามที่มากที่สุดซึ่งตั้งอยู่ที่ซีกโลกตะวันออกอันมีชื่อว่า วิหารที่เมืองคนิดุสในรัฐแคเรีย (Caria) ที่วิหารแห่งนี้มีเทวีเอเธน่าเป็นเทพผู้คุ้มครองอยู่บนเนินอโครโปลิส และมีผู้นับถือศรัทธาเดินทางมาสักการะเป็นจำนวนมาก
จากที่กล่าวไปแล้วว่า อโฟรไดท์เป็นเทวีที่มนุษย์ชาวกรีกและโรมันโบราณให้การนับถือ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์มากที่สุด เนื่องด้วยความรักและความงดงามเป็นสิ่งที่สามารถจับใจคนให้หันมาให้ความสนใจใคร่รู้ได้มากกว่าเรื่องอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้เอง เจ้าแม่เทพีอโฟรไดท์จึงมักจะถูกเทิดทูนบูชา และเป็นที่กล่าวขวัญในศิลปะและวรรณคดีต่าง ๆมากมาย มากไปกว่านั้น ยังมีความเชื่อชองชาวกรีกและชาวโรมันว่า เจ้าแม่เป็นเทวีผู้มีลูกดกและเป็นเทวีแห่งการให้กำเนิดทารก ทำให้มีคติความเชื่อโบราณประการหนึ่งของชาวตะวันตกที่เล่าขานสืบต่อกันมาปากต่อปากมาจนล่วงเลยมาถึงในปัจจุบันนี้ว่า ทารกถือกำเนิดเพราะนกกระสานำมา และคติความเชื่อนี้ก็สืบเนื่องมาจากข้อยึดถือของมนุษย์ชาวกรีกและ โรมันมาตั้งแต่บรรพกาลเช่นกัน
นกกระสามีความสำคัญตามเทพนิยาย นิทานชาวบ้าน และนิทานเทียบสุภาษิตต่าง ๆมากมาย โดยในตำนานเทพปกรณัม ได้กล่าวไว้ว่า นกกระสาถือเป็นนกประกอบบารมีของเทวีอโฟรไดท์ หากบ้านใดที่มีนกกระสาผัวเมียไปทำรังอยู่บนยอดหลังคา ก็จะมีความหมายว่า เจ้าแม่อโฟรไดท์เสด็จไปโปรดให้ครอบครัวนั้นๆกำเนิดลูก และยังความรุ่งเรืองมาให้แก่ครอบครัวนั้น ในแถบยุโรปโดยเฉพาะภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ก็มีการให้ความเคารพนกกระสาเช่นกัน ส่วนในประเทศเยอรมันและเนเธอร์แลนด์ ก็ถือว่านกกระสาเป็นตัวแทนของโชคลาภที่จะเข้ามาสู่ตน ดังนั้นชาวเยอรมันและวิลันดาจึงมีความยินดีที่จะให้นกกระสาสามารถบินมาทำรังบนหลังคาบ้านของตนได้เสมอ ยิ่งนกเหล่านั้นอาศัยอยู่นานเพียงใด ก็ยิ่งถือเป็นมงคลให้แก่บ้านหลังนั้นนานมากขึ้น
ตั้งแต่หลายศตวรรษที่ผ่านมา ชาวยุโรปทั่วๆไปมีความเชื่อสืบทอดกันมาว่า เมื่อบ้านหนึ่งบ้านใดที่กำลังจะให้กำเนิดเด็กแรกเกิด เจ้าแม่อโฟรไดท์จะสั่งให้นกกระสามาบินวนเวียนอยู่เหนือหลังคาบ้านนั้น ซึ่งคติความเชื่อนี้ก็ถูกตีความกันต่อไปว่า หากนกกระสาได้มาบินวนเวียนเหนือบ้านที่กำลังจะมีเด็กเกิด เด็กคนนั้นจะสามารถคลอดออกจากครรภ์มารดาได้โดยง่าย และสามารถอยู่รอดปลอดภัยด้วย แต่ความจริงแล้ว คติความเชื่อนี้ก็เป็นเพียงข้ออ้างที่พ่อแม่ใช้ในการตอบคำถามลูกๆตอนโต ว่าน้องเล็กของตนนั้นเกิดมาได้อย่างไร หรือเกิดมาจากอะไรเพียงเท่านั้น
เทวีอโฟร์ไดท์มีพฤกษาประจำองค์เป็นต้นเมอร์เทิล มีสัตว์เลี้ยงประจำองค์เป็นนก ซึ่งบ้างก็ว่าเป็นนกเขา ในขณะที่บ้างก็ว่าเป็นนกกระจอก หรือหงส์ ตามแต่ที่กวีจะจินตนาการอยากให้เป็น
ที่มา http://www.tumnandd.com/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B9%82%E0%B8%9F%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B9%8C-aphrodite-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD-venus/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น