อน
เทพีเฮสเทีย (Hestia) หรือ เวสตา (Vesta) ในภาษาโรมัน ถือเป็นเทพีที่เป็นที่เคารพนับถือเป็นอย่างมากในฐานะที่เป็นอัคนีเทวีผู้ครองไฟ โดยเฉพาะไฟในเตาผิงตามบ้านเรือน ทำให้เจ้าแม่ถือเป็นที่นับถือว่าเป็นผู้คุ้มครองชีวิตความเป็นอยู่ของคนในบ้านด้วยครอบครัวกรีก และโรมัน ถือว่าเตาไฟผิงเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมากสำหรับทุกๆบ้าน พวกเขาถือว่าไฟที่ลุกโชติช่วงบนเตาถือเป็นไฟของเจ้าแม่ เมื่อใดที่มีเด็กเกิดใหม่ขึ้นมาในบ้านของชาวกรีก เมื่อเด็กอายุได้ครบ 5 วัน พ่อของเขาจะอุ้มลูกไปวนเวียนอยู่รอบเตาผิง ซึ่งเดิมที่จะตั้งไว้อยู่กลางบ้าน ไม่ได้ตั้งอยู่ติดฝาผนังเหมือนอย่างในสมัยนี้ การอุ้มลูกไปเดินเวียนรอบเตาผิงก็เพื่อแสดงให้รู้ว่า เจ้าแม่จะได้รับเอาเด็กคนนั้นไปไว้ในการดูแลอารักขา และช่วยคุ้มครองโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เด็กเริ่มหัดเดิน
เฮสเทียถือเป็นพี่สาวคนโตของเทพซูส และเป็นเทวีที่ครองความโสดไว้อย่างยอดเยี่ยม ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความเคารพนับถือเฮสเทียด้วยเหตุผลอีกหนึ่งประการ ที่ว่า เฮสเทีย นั้นไม่ยอมตกเป็นชายาของเทพซูส หรือแม้โปเซดอนผู้เป็นพี่ชายจะขออภิเษกด้วย เฮสเทียก็ยังคงยืนยันไม่ยินยอม ในขณะที่ อพอลโล ผู้เป็นหลาน ก็ล้วนถูกเฮสเทียปฏิเสธเช่นกัน
เจ้าแม่เฮสเทีย อยู่ในวิหารที่มีลักษณะเป็นวงกลม และมีเจ้าพิธีเป็นหญิงพรมหมจารี ผู้ที่เสียสละการวิวาห์เพื่ออุทิศถวายแก่เจ้าแม่ และยังคอยทำหน้าที่เติมเชื้อไฟในเตาไฟสาธารณะ ซึ่งมีอยู่ประจำในทุกนครให้สว่างโชติช่วงตลอดไป
เป็นที่เชื่อกันว่า ชาวโรมันบูชาเจ้าแม่เฮสเทียเผยแผ่ไปไกลถึงประเทศของตน โดยมี อีเนียส (Aeneas) เป็นคนตั้งต้นในการนำเรื่องที่ว่านี้ไปเผยแผ่ จากนั้น นูมาปอมปิเลียส (Numa Pompilius) ผู้เป็นกษัตริย์แห่งกรุงโรมก็ได่ก่อสร้างศาลเจ้าเพื่อมอบถวายให้แก่เจ้าแม่ในสถานที่กลางยี่สานโรมัน หรือที่เรียกกันว่า Roman Forum โดยเขามีความเชื่อที่ว่า บริเวณนี้เป็นที่ที่เหมาะสม และสวัสดิภาพของกรุงโรมรวมไปถึงแผ่นดินทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับการรักษาเปลวไฟอันศักดิ์สิทธิ์มี่อยู่ในวิหารแห่งนี้ให้โชติช่วงชัชวาลต่อไปด้วย
กล่าวถึง เวศตัล (Vestal) ซึ่งเป็นหญิงพรหมจารี เธอมีหน้าที่รักษาเปลวไฟที่อยู่ภายในวิหารแห่งนี้ ในชั้นเดิมจะมีเพียงแค่ 4 คน แต่ต่อมาในชั้นหลังก็เพิ่มจำนวนเป็น 6 คน โดยทั้งหมดอยู่ใต้การดูแลของจอมอาจารย์ซึ่งเป็นบัญชาการศาสนาของโรม ที่มีชื่อว่า Pontifex Maximus
หลังจากนั้นต่อมา เมื่อคณะเวสตัลพรหมจารีลดน้อยลง จอมอาจารย์จึงต้องคดสรรผู้สืบต่อในตำแหน่งนี้ด้วยวิธีการจับสลาก โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้สมัครเป็นเวสตัลสำรองจะต้องมีอายุในช่วงวัยระหว่าง 6-10 ปี ประกอบไปด้วยร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงสมบูรณ์ และต้องมีชาติกำเนิดเป็นชาวอิตาลี เวสตัลสำรองเหล่านี้จะเข้ารับการฝึกอบรมต่อเนื่องยาวนานถึง 10 ปี ก่อนจะได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเวสตัลผู้ปฏิบัติหน้าที่ในวิหารแห่งนี้เป็นเวลาอีก 10 ปี และหลังจากที่ครบกำหนดแล้ว ก็จะต้องทำหน้าที่ต่อโดยการสั่งสอนอบรมเวสตัลสำรองที่จะขึ้นมาเป็นเวสตัลรุ่นต่อไปอีก 10 ปี จึงจะถือว่าเกษียณอายุราชการ และจะได้เป็นไทเมื่อมีอายุเท่ากับ 40 ปี จึงจะสามารถไปประกอบอาชีพอื่นๆได้ และจะแต่งงานมีสามีได้ก็ต้องพ้นช่วงอายุนี้ไปก่อน นอกจากนี้ คนเหล่านี้ยังมีหน้าที่เติมไฟศักดิ์สิทธิ์ไม่ให้ขาด อีกทั้งพรหมจารีเวสตัลยังต้องทำภารกิจอีก 2 ประการ ประการที่หนึ่งก็คือ เธอต้องเดินทางไปบ่อน้ำพุ อิจีเรีย (Egeria) เพื่อตักน้ำที่ชานกรุงโรมในทุกวัน ซึ่งตำนานของน้ำพุนี้เล่ากันไว้ว่า เดิมทีอิจีเรียถือเป็นนางอัปสรผู้เป็นบริวารของเทวีอาร์เตมิส นางผู้นี้เป็นผู้มีปัญญาฉลาด และมีคู่หูเป็นท้าวนูมาปอมปิเลียส ซึ่งจะช่วยกันหารือการแผ่นดินมิได้ขาด กวีโอวิคได้กล่าวถึงนางไว้ว่า นางถือเป็นชายาคู่กาสยของท้าวนูมาเลยต่างหาก ในขณะที่กวีท่านอื่นกล่าวเพียงว่า นางเป็นแค่เพียงที่ปรึกษาที่รู้ใจเท่านั้น อิจีเรียมีอิทธิพลเป็นอย่างมากเห็นได้จากตอนที่ท้าวนูมาออกกฎหมายและระเบียบแผนใหม่ ก็มักจะออกประกาศกับราษฎรอยู่เสมอว่า นางอิจีเรียได้เห็นชอบกฎหมายและระเบียบแบบแผนเหล่านี้หมดแล้ว ครั้งที่ท้าวนูมาทิวงคต นางอิจีเรียก็เสียใจอย่างมาก นางได้แต่ร้องไห้จนกลายเป็นน้ำพุไปในที่สุด ชาวโรมันจึงเชื่อกันว่า น้ำพุอิจีเรียถือเป็นน้ำพุบริสุทธิ์ด้วยประการฉะนี้
พรหมจารีเวสตัลมีหน้าที่พิเศษในการอารักขาดูแลวัตถุลึกลับมากๆสิ่งหนึ่ง ที่คนต่างเรียกกันว่า พัลเลเดียม (Palladium) ผู้คนเชื่อว่า สิ่งนี้เป็นวัตถุที่อีเนียสนำไปจากกรุงทรอย แต่ก็ไม่มีผู้ใดเว้นเสียแต่คณะเวสตัล ที่ทราบว่าสิ่งๆนั้นเป็นอะไรแน่ บ้างก็กล่าวกันว่าเป็นเพียงรูปปั้นของเจ้าแม่เอเธน่า แต่บ้างก็คิดกันว่าเป็น โล่ที่ร่วงหล่นลงมาจากสวรรค์ เมื่อศึกกรุงทรอย ชาวเมืองในกรุงทรอยถือว่าสิ่งนี้ถือเป็นของคู่บ้านคู่เมือง หากยังมีของสิ่งนี้อยู่ กรุงทรอยจะไม่แตกเป็นเด็ดขาด แต่เมื่อยูลิซิสกับไดโอมิดิสผู้เป็นทหารเอกของฝ่ายกรีกได้ขโมยเอาสิ่งนี้ไป กรุงทรอย จึงล้มสลายลง บ้างก็มีตำนานเล่าว่า ความจริงแล้วกรุงทรอยแตกเพราะเสียขวัญ และเสียท่าต่อกรีกมากกว่า
กล่าวถึงของที่กรีกขโมยไป ถือเป็นของปลอมที่ฝ่ายกรุงทรอยแกล้งทำเอาไว้ลวงไม่ให้ของแท้ถูกขโมย ส่วนพัลเลเดียมของจริงยังคงอยู่ที่เดิมในกรุงทรอย เมื่อพวกกรีกลอบเข้าเมืองมาได้ อีเนียสก็พาเอาไปด้วยจนถึงที่อิตาลี ภาย หลัง ชาวโรมันก็รักษาเอาไว้ในที่มิดชิดภายในวิหารเจ้าแม่เฮสเทีย และอยู่ในการดูแลคุ้มครองอย่างเคร่งครัดของคณะเวสตัลพรหมจารี
พรหมจารีเวสตัลไม่ได้มีแค่หน้าที่สำคัญตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเท่านั้น แต่ยังคงมีสิทธิ์เหนือคนทั่วไปหลายประการด้วย เช่น หากมีงานรื่นเริงเฉลิมฉลองสมโภช หรือการแข่งขันสาธารณะ คณะเวสตัลพรหมจารีจะได้รับที่พิเศษที่จัดไว้โดยเฉพาะเป็นเกียรติยศ และเมื่อเวสตัลพรหมจารีเดินทางไปต่างแดน ก็จะมีเจ้าพนักงานผู้ถือมัดขวานที่เรียกว่า fasces นำหน้า อันเป็นเครื่องหมายแสดงอำนาจทัดเทียมด้วยอำนาจตุลาการ มัดขวานที่ว่านี้เป็นขวานที่หุ้มด้วยไม้กลมอันเล็ก และรอบขวานจะมัดเอาไว้ด้วยกัน ส่วนยอดขวานโผล่หันคมออก ซึ่งถือเป็นของสำหรับเจ้าพนักงานผู้ถือหน้าตุลาการ อันมีความหมายถึงอำนาจในการตัดสินอรรถคดี เมื่อพรหมจารีเวสตันเป็นพยานให้การในศาล ก็จะได้สิทธิพิเศษโดยไม่ต้องสาบานว่าจะพูดความจริง เพียงแค่ให้การแบบลุ่นๆเท่านั้น ถ้าบังเอิญว่าเวสตัลคนใดไปพบนักโทษคนใดเข้าในระหว่างทางที่ถูกพาตัวไปประหารชีวิต ถ้าพรหมจารีเวสตันประสงค์ให้นักโทษพ้นโทษ พวกเขาก็จะได้รับการอภัยโทษให้เป็นไทได้ ณ ที่นั้นในทันทีโดยพลการ
ชาวโรมันให้การนับถือเจ้าแม่เฮสเทียมาโดยตลอดจนมาถึงในช่วงคริสตศักราชปีที่ 380 จึงได้ยุติลง ด้วยอธิราชธีโอโดเซียสเป็นผู้สั่งให้ยกเลิกการเติมไฟศักดิ์สิทธิ์ และยกเลิกการจัดตั้งคณะพรหมจารีเวสตัลให้พ้นไป
ที่มา http://www.tumnandd.com/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%AE%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A2-hestia/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น