อพอลโล (Apollo) ถือเป็นเทพคู่แฝดกับเทวีอาร์เตมิส ผู้เป็นเทพครองดวงอาทิตย์ คู่กับอาร์เตมิสที่ถือเป็นเทพแห่งดวงจันทร์
ตามตำนานแล้ว ฮีลิออส(Helios) ถืเป็นชั้นแต่เดิมสุริยเทพของกรีก และถือเป็นบุตรของโอเพอร์เรียน (Hyperion) ที่อยู่ในคณะเทพไทแทนด้วย แต่หลังจากการสิ้นอำนาจของคณะเทพไทแทน ชาวกรีกจึงหันมานับถือเทพอพอลโลแทน
หลังจากที่ นางแลโตนา ผู้เป็นมารดาของอพอลโล ถูกเจ้าแม่ฮีรากระทำด้วยความหึงของ เหตุเพราะมีความสัมพันธ์กับซูส และทำให้ต้องอุ้มท้องหนีงูไพธอน (Python) ของเจ้าแม่ ไปตามที่ต่างๆเพื่อหาสถานที่ในการประสูติบุตรของตน ในที่สุดก็เดินทางไปจนถึงเกาะดีลอส (Delos) เมื่อเทพโปเซดอนเห็นเข้าก็เกิดความสงสาร จึงได้บันดาลให้เกิดเป็นเกาะเล็กๆขึ้นกลางทะเล ทำให้นางสามารถประสูติเทพอพอลโลและอาร์เตมิสออกมาได้บนเกาะแห่งนั้น เมื่อทรากทั้งสองกำเนิดขึ้นมา อพอลโลก็ทำการฆ่างูไพธอนทันที ทำให้อพอลโลได้ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ไพธูส (Pytheus) ที่มีความหมายว่า “ผู้ประหารไพธอน” ไม่เพียงเท่านี้ อพอลโลยังมีชื่อเรียกอีกมากมายหลายชื่อตามแต่ สถานต่างๆ เช่น ดีเลียน (Felian) ฟีบัส (Phoebus) หมายความว่า “โอภาส” หรือ “ส่องแสง” เป็นต้น ซึ่งชื่อหลังนี้มักจะใช้ร่วมกับชื่อหลัก รวมเป็น “ฟีบัส อพอลโล” อยู่บ่อยครั้ง
หลังจากที่นางให้กำเนิดบุตรแล้ว นางแลโตนาก็ยังไม่ตามรังแกไม่เลิก ทำให้นางต้องเร่ร่อนหนีต่อไปจนไปถึงแคว้น เคเรีย (Caria) ซึ่งในปัจจุบันนี้อยู่ในเอเซียไมเนอร์ ระหว่างทาง นางได้หยุดพักชั่วคราวที่ริมหนองน้ำแห่งหนึ่งด้วยความเหน็ดเหนื่อย และออกปากขอน้ำดื่มจากชาวบ้าน ที่ออกมาทำงานถอนหญ้าอยู่แถบนั้น แต่ชาวบ้านก็ไม่ยินดีที่จะช่วยเหลือนางแต่กลับไล่ตะเพิดและเอ่ยคำด่าทอด้วยคำพูดหยาบช้า ท่านซูสเทพบดีที่สังเกตการอยู่รู้สึกโกรธมาก จึงสาปชาวบ้านทุกคนให้กลายเป็นกบไป ทำให้ละแวกแถวนั้นกลายเป็นแหล่งที่มีกบชุกชุมสืบเนื่องมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเชื่อกันว่า กบในปัจจุบันก็อาจสืบเชื้อสายมาจากชาวบ้านพวกนี้ก็เป็นได้
กล่าวถึง อพอลโล เทพชาวกรีกผู้มีรูปร่างงดงาม และยังถือเป็นนักดนตรีที่ช่วยขับกล่อมบทเพลงอันไพเราะให้แก่เหล่าเทพบนเขาโอลิมปัส เทพอพอลโลจะพิณถือในมือหนึ่ง และถือคันธนูอีกมือหนึ่ง ซึ่งธนูนี้สามารถยิงได้ไกล ทำให้ได้รับสมญานามว่า ‘เทพขมังธนู’ อีกทั้ง เทพอพอลโลยังเป็นเทพผู้ถ่ายถอดวิชาศิลป์ให้แก่มนุษย์บนโลกอีกด้วย เทพอพอลโลถูกยกย่องให้เป็นเทพแห่งแสงสว่าง และเป็นเทพแห่งสัจธรรมผู้ไม่เคยโป้ปดอีกด้วย
สามารถพบวิหารของเทพอพอลโลได้อยู่ทั่วไปในประเทศต่างๆ แต่หากกล่าวถึงสถานที่สำคัญที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น วิหาร ณ เมืองเดลฟี ที่ตั้งอยู่ใกล้กับทิวเขาพาร์นาซัส ส่วนรูปอนุสาวรีย์ โคลอสซัส (Colosus) ที่ตั้งอยู่บนเกาะ โรดส์ (Rhodes) ก็ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในสมัยโบราณที่ผู้คนทั่วไปต่างพากันกล่าวถึง
ตำนานกล่าวไว้ว่า เทพอพอลโลเป็นเทพผู้เก่งกาจและได้สังหารคนพาลที่ทำผิดไปอย่างมากมาย ส่วนสัตว์ดุร้ายก็ล้วนล้มตามด้วยฝีมือของเทพอพอลโลทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น งูยักษ์ไพธอน, ยักษ์อโลอาดี (Aloadae) และ อีฟิอัลทิส(Ephialtes) ผู้สืบเชื้อสายจากราชวงศ์ไทแทน ที่หวังจะฟื้นคืนวงศ์ไทแทนกลับมา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มีเพียงครั้งเดียวที่เทพอพอลโลไม่อาจจะเอาชนะมนุษย์คนหนึ่งได้ เรื่องราวครั้งนี้ร้อนถึงเทพซูสที่จะต้องออกมาช่วยประนีประนอมจนสำเร็จ ซึ่งมนุษย์ผู้นี้ก็มีชื่อว่า เฮอร์คิวลิส หรือ เฮลาคลิส นั่นเอง เหตุการณ์ครั้งนี้เริ่มขึ้นเนื่องจาก เฮอร์คิวลิสได้ไปขอคำทำนายที่วิหารเดลฟี ซึ่งเมื่อเขาได้รับทราบคำทำนายแล้วก็รู้สึกไม่ถูกใจ จึงบันดาลโทษะล้มโต๊ะพิธีในวิหารนั้นเสีย อีกทั้งยังขโมยกระถางธูปหลบหนีไปด้วย ทำให้เทพอพอลโลจำเป็นต้องรีบตามไปเพื่อหวังจะนำกระถางธูปกลับคืน ทั้งสองได้ต่อสู้กันด้วยการเล่นมวยปล้ำ แต่ด้วยพละกำลังที่มากมายไม่แพ้กัน จึงต้องปล้ำกันอยู่และไม่อาจรู้แพ้รู้ชนะได้ ท่านซูสเห็นว่าหากปล่อยไว้เช่นนี้นาน เทพอพอลโลอาจจะเสียท่าพ่ายแพ้แก่มนุษย์ผู้นี้เข้าได้ และคงนำความขายหน้ามาให้แก่วงศ์เทพด้วยแน่ ว่าแล้วเทพซูสจึงเสด็จลงไปห้าม และขอให้เฮอร์คิวลิสช่วยคืนกระถางธูปใบนั้นแก่ท่านอพอลโลเสีย ทำให้เรื่องราวการต่อสู้ครั้งนี้ลงเอยได้ด้วยดี
ด้วยความที่เทพอพอลโลมีนิสัยที่ไม่ยอมแพ้ใคร ครั้งหนึ่งเทพอพอลโลได้ไปแข่งเป่าขลุ่ยกับมาไซยาส์ซึ่งเป็นเทพชั้นรอง ซึ่งครั้งนี้มีกรรมการผู้ตัดสินเป็นพระเจ้าไมดาส (Midas) ซึ่งการตัดสินของเขาโอนเอียงไปทางไซยาส์มากกว่า ทำให้อพอลโลโกรธมาก ไม่ฟังคำทัดทานของใครทั้งสิ้น และลงมือสาปไมดาสให้มีหูเป็นลาในทันที
เทพอพอลโล เป็นเทพที่ดูจะมีจิตใจสูงกว่าเทพองค์อื่น ๆ แต่ก็ยังคงมีเรื่องเล่าอยู่ 2-3 เรื่อง ที่บ่งบอกให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงความดุร้ายของเทพองค์นี้อยู่บ้าง จากเรื่องราวที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้
การลงโทษนางไนโอบี
มารดาของเทพอพอลโลและเทวีอาร์เตมิสรู้สึกภาคภูมิใจในตัวลูกๆทั้งสองเป็นอย่างมาก นางจึงชอบเอาเรื่องราวของลูกไปคุยโอ้อวดแก่คนอื่นๆว่าไม่มีบุตรคนใดจะดีเสมอบุตรของนางอีกแล้ว ไม่ว่าจะเปรียบเทียบในด้านรูปโฉม สติปัญญา หรือพลังอำนาจ ก็ไม่มีใครจะชนะบุตรของนางได้เลย จนเรื่องราวดังกล่าวได้โด่งดังไปไกลจนเข้าหูนาง ไนโอบี (Niobe) ผู้เป็นธิดาของท้าวแทนทะลัส (Tantalus) เจ้ากรุง ธีบส์ (Thebes) เมื่อนางไนโอบีได้ฟังก็กลับหัวเราะเยาะในคำพูดโอ้อวดคำนี้ และได้ลั่นวาจากล่าวสบประมาทนางแลโตยาว่า ตัวนางนั้นมีลูกเพียง 2 เท่านั้น จะสู้ตัวของนางที่มีลูกถึง 14 และเป็นชายถึง 7 ที่ล้วนแต่มีรูปกายงดงาม กำยำ และมีลูกสาวหญิงอีก 7 ที่ล้วนแต่มีหน้าตางดงามได้อย่างไร
มากไปกว่านั้น นางไนโอบียังห้ามไม่ให้ชาวเมืองทุกคนของนาง ทำการบูชาเทพอพอลโลและเทวีอาร์เตมิสอีกด้วย ไม่เพียงแค่นั้นยังสั่งให้ชาวเมืองทำลายรูปเคารพของเทพและเทวีคู่นี้ให้หมดสิ้นไปจากเมืองของนางอีกด้วย เมื่อเรื่องนี้ไปถึงหูของนางแลโตนา นางก็เกิดความโกรธแค้นกับการกระทำอันแสนดูหมิ่นของนางไนโอบีเป็นอย่างมาก นางแลโตนาจึงได้เรียกบุตรและ ธิดาทั้งสองมาเข้าเฝ้า และสั่งให้ลูกๆของตนออกตามสังหารบุตรและธิดาทั้ง 14 ของนางไนโอบีให้หมดสิ้นไปเสีย เพื่อเป็นการล้างแค้น
ทั้งเทพอพอลโลและเทวีอาร์เตมิสเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกโกรธ จึงได้เร่งออกตามหาบุตรและธิดาทั้ง 14 ของนางไนโอบีอย่างขมีขมัน เทพอพอลโลสามารถพบมานพทั้ง 7 ที่กำลังออกล่าสัตว์ และได้ฆ่าบุตรแห่งนางไนโอบีตายทั้งหมดด้วยลูกธนู ซึ่งเมื่อนางไนโอบี ทราบข่าวการตายของบุตรตัวเอง นางก็โศกเศร้าเป็นยิ่งนัก ฝ่ายพระสวามีก็ฆ่าตัวตายตามลูกๆทั้ง 7 คนไปด้วย ส่วนธิดาอีก 7 คน ก็ถูกเทวีอาร์เตมิสตามสังหารไปเสียหมด ซึ่งแม้ว่านางทั้ง 7 จะพยายามหนีลูกธนูของเจ้าแม่แห่งนายพรานเท่าไร รวมทั้งนางไนโอบีจะพยายามอ้อนวอนขอความเมตตาจากทวยเทพบนเขาโอลิมปัสมากเพียงใด ก็ยังไม่เป็นผล สุดท้ายธิดาของนางทั้ง 7 ก็ต้องล้มตายคาอกมารดาด้วยศรกันทั้งหมดทั้งสิ้น
เพียงไม่นานหลังจากที่นางไนโอบีกล่าวคำหมื่นประมาทออกไป ก็ทำให้นางสูญเสียทั้งสามี บุตร และธิดาไปจนหมด และหลงเหลือแต่เพียงตัวนางอยู่ผู้เดียว ซึ่งก็นำความทรมานเหมือนตายทั้งเป็นมาแก่นาง ด้วยความโศกเศร้ารันทดที่มีอยู่เต็มหัวใจ ทำให้นางเกิดอาการตัวแข็งชาไปทั่วร่างกาย ไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายไปทางไหนได้เลย และในที่สุด ร่างของนางไนโอบีก็แข็งกลายเป็นหินตันไปหมด คงเหลือแต่เพียงหยาดน้ำตาที่ไหลเอ่อออกมาไม่มีวันสิ้นสุด ตั้งแต่วันนั้นจวบจนมาถึงทุกวันนี้น้ำตาของนางก็ยังคงไม่หยุดไหล ส่วนรูปหินของนางไนโอบีก็ยังคงปรากฏอยู่บนเขาไซปิลัส (Sipylus) ต่อไป ซึ่งเหตุการณ์ดังที่กล่าวมานี้ ก็ทำให้นักเทพปกรณัมวิทยา กล่าววกันว่า เป็นตำนานเปรียบเทียบถึงอำนาจของแสงอาทิตย์หลังสิ้นฤดูหนาว ซึ่งนางไนโอบีหมายถึงฤดูหนาว ส่วนบุตรทั้ง 7 คน ก็หมายถึงระยะกาลแห่งความหนาว ในขณะที่ ลูกธนูของเทพอพอลโลก็หมายถึงแสงแห่งดวงอาทิตย์นั่นเอง
อพอลโลถูกเนรเทศ
ครั้งที่เทพอพอลโลยังเป็นหนุ่ม เขาได้ออกเที่ยวไปตามถิ่นต่าง ๆทางทิศเหนือของประเทศกรีซ ในแถบดินแดนของชนชาติไฮเพอร์โบเรียนและแคว้นเธสสะลี เทพอพอลโลมักจะไปเที่ยวผูกสัมพันธ์รักกับหญิงสาวไปทั่วตามวิสัยของหนุ่มวัยรุ่นผู้มีใบหน้างดงาม
ณ แคว้นเธสสะลี ก็มีสาวงามคนหนึ่งที่มีนามว่า โครอนนิส (Coronis) ผู้เป็นธิดาของเจ้าแห่งแคว้นนั้น ซึ่งอพอลโลก็ได้ไปตกหลุมรักและได้เสียกับนาง จนให้กำเนิดบุตรด้วยกันหนึ่งคน แต่นางผู้นี้กลับได้ชื่อว่าเป็นหญิงหลายใจในภายหลัง
ระหว่างที่นางตั้งครรภ์ อพอลโลได้ให้นกดุเหว่าซึ่งมีขนขาวปลอดตัวหนึ่งคอยเฝ้านางเอาไว้ ซึ่งนางเองก็ได้แอบไปคบชู้กับชายอื่น ทำให้นกดุเหว่าบอนไปบอกข่าวนี้แก่เทพอพอลโล เมื่อเทพอพอลโลทราบเรื่องก็เกิดโมโหเป็นอย่างมาก และบันดาลโทสะสาปนกตัวนั้นที่บังอาจมาบอกข่าวร้ายเช่นนี้แก่ตน จนทำให้นกดุเหว่าที่เคยที่ขนสีขาวกลับกลายเป็นขนสีดำไปในทันที และนี่ก็เป็นสาเหตุให้นกดุเหว่ากลายมาเป็นนกที่มีขนสีดำตั้งแต่นั้นมา
ส่วนนางโครอนนิสก็ถูกฆ่าตายเช่นกัน แต่ตำนานไม่ปรากฏชัดว่านางนั้นตายด้วยน้ำมือของเทพอพอลโล หรือด้วยคมศรของเจ้าแม่อาร์เตมิส ในขณะที่บุตรที่อยู่ในครรภ์ของนางก็ครบกำหนดคลอดพอดี และได้นำออกจากครรภ์ของนางโครอนนิสตอนเผาศพ ทารกผู้นี้จึงรอดตายมาได้ เทพอพอลโลได้มอบทารกให้ ไครอน (Chiron) ผู้มีชาติเป็นอมนุษย์ เซนทอร์ (Centaur) เป็นผู้ดูแลแทนตน
กล่าวกันว่า ไครอน ถือเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งวิชาการดนตรี เภสัชกรรมวิทยา และวิชาธนูศิลป์ เป็นต้น และเป็นผู้ปราดเปรื่องในปัญญาเป็นอย่างมาก ทำให้เขากลายเป็นที่นับถือของชาวกรีกโบราณ ว่าเป็นผู้สอนให้มนุษย์รู้จักการนำเอาพืชสมุนไพรมาใช้ทำยา และถือเป็นอาจารย์ของวีรบุรุษคนสำคัญ ๆมากมาย เช่น อคิลีส, เฮอร์คิวลีส, เยสัน, พีลูส, อีเนียส เป็นต้น ดั่งมีเรื่องเล่าตอนหนึ่งว่า ในช่วงปลายอายุ ไครอนได้ถูกเฮอร์คิวลีสยิงด้วยธนูอาบยาพิษในระหว่างที่เฮอร์คิวลีสกำลังตามล้างเซนทอร์พวกหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าเฮอร์คิวลิสจะไม่ได้ตั้งใจและช่วยแก้ไขให้รอดตายได้แล้ว บวกกับการที่ไครอนเองก็มีวิชาแพทย์ติดตัว แต่ก็ไม่สามารถจะถอนพิษยาเหล่านั้นออกได้ พิษยาครั้งนี้ทำให้ไครอนเกิดความเจ็บปวดรวดร้าวเป็นอย่างยิ่ง สุดท้าย ซูสเทพบดีก็ได้โปรดให้เขากลายไปเป็นหมู่ดาวที่อยู่ในกลุ่มดาวที่ชื่อว่า แซชจิเตริอัส (Sagitarius) หลังจากสิ้นชีวิตลง
ส่วนบุตรของเทพอพอลโล ที่อาจารย์ไครอนรับเลี้ยงไว้ มีชื่อว่า เอสคิวเลปิอัส (Aesculapius) เขาผู้นี้เป็นเด็กฉลาด มีความเข้าใจในวิชาการอย่างแตกฉาน และยังเป็นที่รักของอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง เอสคิวเลปิอัส ชอบวิชาโรคศิลป์ เป็นที่สุด ทำให้เมื่อเขาเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ขี้น เขาจึงกลายเป็นแพทย์ผู้บำบัดโรคที่มีความเก่งกาจสามารถมากที่สุดคนหนึ่ง
ว่ากันว่า ความสามารถในการบำบัดโรคของเอสคิวเลปิอัสนั้น เก่งกาจเกินกว่าอาจารย์ของเขาเป็นอย่างมาก เอสคิวเลปิอัสสามารถรักษาโรคและความเจ็บป่วยได้ทุกชีวิต จนทำให้ชื่อเสียงของเอสคิวเลปิอัสโด่งดังเลื่องลือไปไกลทั่วแคว้น ไม่ว่าใครที่ป่วยไข้แบบหนักหนาสาหัส หรือแบบเล็กๆน้อยๆ หากได้รับการรักษาจากเขาไปแล้ว อาการป่วยที่เคยมีก็จะทุเลาหายไปอย่างรวดเร็ว หรือดีอาการดีวันดีคืนโดยตลอด ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศที่มีอาการเจ็บป่วยจึงพากันเดินทางมาหา และไปขอรับการรักษาโรคที่สำนักของเขาทั้งสิ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การบำเพ็ญประโยชน์ของเอสคิวเลปิอัสครั้งนี้ แผ่ไกลไพศาลไปทั่วทุกทิศจริงๆ
ไม่เพียงเท่านั้น ความสามารถของเอสคิวเลปิอัส ยังเลื่องลือมากขึ้น เมื่อเขาสามารถทำให้คนตายฟื้นคืนชีพได้อีกครั้ง ซึ่งความดีครั้งนี้กลับเป็นเหตุให้เทพปริณายกซูสกับเทพฮาเดส ผู้เป็นเจ้าแห่งดินแดนคนตายเกิดความเดือดร้อน พวกเขาเกิดความริษยา และหวั่นเกรงในอำนาจของเอสคิวเลปิอัส สุดท้ายเทพซูสจึงตัดสินใจประหาร เอสคิวเลปิอัส เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
เทพอพอลโลโกรธมากที่บุตรของตนต้องมาเสียชีวิตลง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปล้างแค้นกับเทพบิดาได้อย่างไร จึงหันไปเล่นงานช่างประกอบอสนีบาตถวายซูส ที่ชื่อว่า เทพฮีฟีสทัส กับยักษ์ไซคลอปส์ แทน เธอน้าวคันธนูเงินเพื่อหวังจะยิงธนูสังหารยักษ์ไซคลอปส์เพื่อเป็นการแก้แค้น แต่เทพซูสก็ไม่ยอมให้อพอลโลได้ทำเช่นนั้น แถมยังเนรเทศเทพอพอลโลให้ตกสวรรค์และลงมาอยู่บนโลกมนุษย์ เพื่อตกเป็นข้ารับใช้แก่มนุษย์นานเป็นเวลา 1 ปี จึงจะพ้นโทษครั้งนี้
ที่มา http://www.tumnandd.com/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B9%82%E0%B8%A5-apollo/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น