จากที่กล่าวมาก่อนแล้วว่า เทวีอโฟร์ไดท์มีบุตรธิดากับเทพเอเรสถึง 3 องค์ โดยนางเฮอร์โมไอนีได้อภิเษกสมรสกับแคดมัสผู้เป็นเจ้าเมืองธีบส์ ส่วนคิวพิดก็เป็นกามเทพของชาวโรมัน หรือที่ชาวกรีกเรียกว่า อีรอส แต่อีรอสหรือคิวพิดที่เป็นบุตรของอโฟร์ไดท์กับเอเรสนี้ ถือเป็นคนละองค์กับอีรอสที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งสร้างโลก ดังนั้น หากเป็นอีรอสที่กล่าวถึงโดยทั่ว ๆไป ก็มักจะหมายความถึงอีรอสที่เป็นบุตรของอโฟร์ไดท์กับเอเรสองค์นี้เกือบจะตลอด
อีรอส ถือเป็นเทพบุตรรูปงามที่สุดองค์หนึ่งในบรรดาเทพทั้งหลายไม่แตกต่างจากเทพอพอลโลเสียเท่าไร ปรัชญาเมธีเพลโตได้กล่าวเปรียบเปรยเกี่ยวกับเทพองค์นี้ไว้ว่า แม้ว่า “กามเทพอีรอส” จะเข้าไปในหัวใจของคนได้ก็จริง แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปในทุกหัวใจของคนได้ เนื่องด้วยเหตุผลที่ว่าด้วยความแข็งกระด้างเธอที่ทำให้เกียรติคุณอันดีงามของเธอหายไป เธอจะไม่ยอมให้ผู้ใดทำผิด และแม้จะใช้กำลังบังคับก็ไม่สามารถจะล้มเธอลงได้
นักกวีชาวกรีกในอดีตไม่ได้แต่งตำนานของเทพอีรอสผู้นี้ขึ้นมา แต่ตำนานดังกล่าวถูกกวีฮีสิออดเป็นผู้แต่งขึ้นมาให้ แต่ก็พบว่าไม่ใช่อีรอสที่เป็นโอรสของเทวีอโฟร์ไดท์เลย แต่เป็นเพียงแค่เพื่อนกันเท่านั้น ดังนั้น ตำนานของเทพอีรอสจึงมีนักกวีชาวโรมันที่เป็นผู้แต่งเรื่องราวขึ้นมา และทำให้พบว่ามีเพียงเฉพาะตำนานของโรมันเท่านั้นที่มีการกล่าวถึงเรื่องราวของเทพอีรอสองค์นี้
ตำนานมักพูกไปในทางเดียวกันว่า เทพอีรอสเป็นเทพที่ติดมารดามากที่สุด หากพบเทวีอโฟร์ไดท์อยู่ที่ใด ก็มักจะพบอีรอสปรากฏตัวอยู่ที่แห่งนั้นด้วย ซึ่เปรียบเสมือนการคู่กันของความงามและกามวิสัยนั่นเอง โดยอีรอส เปรียบเสมือนลูกศรแห่งกามฉันท์รวมกันกับคันธนูน้อยที่เป็นอาวุธ ซึ่งมีไว้สำหรับยิงปักหัวใจของเทพและมนุษย์ทั้งหลายให้ต่างมีความปรารถนาอันเร่าร้อนไปด้วยความรักพิศวาส โดยจะเห็นได้ว่าชั้นเดิมของอีรอสจะเป็นเด็กวัยเยาว์อยู่เสมอ และไม่มีทางได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่เลย ดังนั้น อีรอสจึงต้องมีเพื่อนเล่นและบริวารเป็นเทพองค์น้อยอีกองค์ ที่มีชื่อเรียกกันว่า “แอนทีรอส”
ตำนานการกำเนิดของแอนทีรอส มีเรื่องเล่าไว้ดังต่อไปนี้
เมื่อเห็นว่าอีรอสไม่มีท่าทีที่จะเจริญวัยมากขึ้นเสียที อโฟรไดท์จึงกล่าวปรารภกับธีมิสผู้เป็นเทวีแห่งความยุติธรรมว่า เธอจะต้องเลี้ยงดูบุตรอีรอสของเธออย่างไร จึงจะทำให้อีรอสเจริญเติบโตมากขึ้นได้ ธีมิสจุงได้ชี้แจงไปว่า เหตุผลที่อีรอสไม่โตไปกว่านี้ ก็เพราะอีรอสขาดเพื่อนเล่นแก้เหงา หากนางสามารถมีน้องให้แก่อีรอสสักองค์หนึ่ง อีรอสก็คงจะโตขึ้นได้อีกมาก และต่อจากนั้นในไม่ช้าแอนทีรอสก็บังเกิดขึ้น ทำให้อีรอสเจริญเติบโตแข็งแรงขึ้นอย่างรวดเร็วผิดจากแต่เดิมเป็นอย่างมาก (อย่างไรก็ตาม เราจะยังคงเห็นว่าคิวพิดหรืออีรอสที่เป็นภาพเขียนหรือแกะสลักก็ยังปรากฎตัวในรูปที่เป็นเด็กเสียมากกว่า) ซึ่งนอกจากแอนทีรอสจะมีหน้าที่เป็นเพื่อนเล่นของอีรอสแล้ว แอนทีรอสยังถือเป็นเทพบันดาลให้เกิดมีการรักตอบด้วย
เรื่องต่อไปนี้จะเล่าถึงความสัมพันธ์ของอีรอสกับนางไซคิ ซึ่งถือเป็นเรื่องราวที่แพร่หลายและเป็นที่รู้จักมากที่สุดเรื่องหนึ่งในเรื่องเล่าเกี่ยวกับเทพปกรณัมกรีกโรมัน เรื่องที่ว่านี้เป็นเรื่องเล่าที่แสนจับใจและให้มุมมองแง่คิดหลายประการตามแต่ที่ท่านผู้อ่านผู้ฟังจะคิดเห็นตามวิจารณญาณ เรื่องราวนนี้เป็นเรื่องความรักของเทพอีรอสเอง ซึ่งเขาถือเป็นผู้มีอำนาจในการบันดาลความรักให้เกิดขึ้นกับใครก็ได้ ส่วนนางไซคิ (Psyche) ซึ่งเป็นตัวเอกอีกตัวหนึ่งของเรื่อง ก็บังเอิญเป็นคำคำเดียวกันกับคำที่มีความหมายว่า จิตใจหรือดวงวิญญาณ ทำให้อาจกล่าวได้ว่า เทพปกรณัมกรีกอุปโลกน์สร้างนางไซคิขึ้นมา เพื่อหวังที่จะใช้ให้เป็นลักษณะของดวงวิญญาณก็เป็นได้ เรื่องเล่าในปกรณัมนั้นกล่าวไว้ดังนี้ว่า
กาลครั้งหนึ่งในกรีก มีกษัตริย์องค์หนึ่งมีธิดา 3 องค์ ซึ่งธิดาทุกองค์ล้วนมีสิริโฉมงดงาม แต่จะพบว่าแม้จะนำความงามของ 2 องค์พี่รวมกัน ก็ไม่ทัดเทียมเท่ากับความงามของธิดาองค์สุดท้องนี้ได้ ธิดาองค์สุดท้องนี้ทรงมีชื่อว่า ไซคิ ผู้มีความงามมากที่สุด และเป็นที่ลือเลื่องไปทั่วทุกถิ่น ใครต่อใครก็ต่างพากันยกย่องเทิดทูนเพราะความงาม จนลืมที่จะบูชาเทวีอโฟร์ไดท์ผู้เป็นเจ้าแม่แห่งความงามไปสิ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ศาลของเจ้าแม่อโฟร์ไดท์เงียบเหงา ว่างเปล่า และวังเวง เจ้าแม่เองก็ว่างเปล่าเพราะไม่มีผู้ใดจะเข้าไปบวงสรวงได้ แม้แต่แขกบ้านแขกเมืองจากต่างถิ่นก็พากันเดินทางไปศาลเจ้าแม่ไซคิ เพื่อชื่นชมความงามของเจ้าแม่กันเสียหมด และเพราะเหตุผลนี้เองที่ทำให้เจ้าแม่อโฟร์ไดท์รู้สึกรังเกียจริษยาในตัวของเจ้าแม่ไซคิเป็นอย่างยิ่ง และคิดหวังจะกลั่นแกล้งให้นางไซคิตกต่ำ ด้วยความอัปยศ คนทั้งปวงจะได้ไม่ต้องไปยกย่องบูชาถึงนางต่อไปอีก ว่าแล้ว เจ้าแม่ก็เรียกอีรอสเทพบุตรมาสั่งถึงความประสงค์ให้บุตรรับทราบ และสั่งให้อีรอสไปหลอกล่อให้นางไซคิแอบหลงรักสัตว์อุบาทว์สักคนหนึ่ง อีรอสก็ทำตามที่เจ้าแม่สั่งเป็นอย่างดี แต่ผลลัพธ์ที่ปรากฏต่อมาในภายหลังกลับพบว่า “สัตว์อุบาทว์ทรลักษณ์” ที่นางไซคิจะต้องหลงรัก ก็ไม่ใช่ใครอื่นใดแต่เป็นน อีรอส นั่นเอง !
อุทยานของเจ้าแม่อโฟร์ไดท์ปรากฎมีน้ำพุอยู่ 2 แหล่ง แอ่งที่หนึ่งเป็นน้ำพุงน้ำหวาน ส่วนแอ่งที่สองเป็นน้ำพุน้ำขม น้ำพุหวานเป็นน้ำที่ใช้เพื่อสร้างความสดชื่นและเบิกบาน ในขณะที่น้ำขมใช้เพื่อสร้างความขมขื่นรือทุกข์ระทมในจิตใจ เมื่อครั้งแรก อีรอสได้ใช้กุมโฑตักน้ำจากน้ำพุทั้งสองชนิดละใบ จากนั้นได้นำไปยังห้องที่ไซคิที่กำลังหลับอยู่ ล้วอีรอสก็แอบนำเอาน้ำขมในกุณโฑรดประพรมไปที่ลงโอษฐ์ของไซคิ แล้วนำเอาปลายศรบันดาลความพิศวาสสะกิดสีข้างของนางในทันทีทันใด ทำให้ไซคิสะดุ้งตัวตื่นขึ้นมา ถึงแม้ว่าอีรอสจะไม่ได้เผยกายให้นางได้เห็น แต่ด้วยความลืมตัว ทำให้เธอเผลอทำศรสะกิดไปด้วยองค์ของเธอเองด้วยเหตุเพราะตกใจ ทำให้เธอเกิดตกหลุมรักนางไซคิเนื่อด้วยพลังของศรตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จากนั้นเธอเอาเอาน้ำพุหวานมารดลงบนเรือนผมของไซคิ ก่อนที่จะโผบินจากไปจากที่นั้น
เมื่อเวลาผ่านพ้นไป ก็ยิ่งทำให้ไซคิรู้สึกเศร้า เหงา และเปล่าเปลี่ยวใจที่ไม่มีผู้ใดจะมาขอวิวาห์ด้วย ทุกสายตายังคงตะลึงในรูปโฉมที่งดงามของนางอยู่ และยังมีถ้อยคำยกย่องสรรเสริญนางยังอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีใครที่คิดจะเข้ามาสู่ขอนางไปเป็นคู่ชีวิต เพราะค่างก็พากันเกรงกลัวในตัวนาง เหตุการณ์นี้ทำให้นางสุดจะทน ในขณะที่ พี่สาวทั้งสองของนางก็ได้แต่งงานมีครอบครัวไปกับเจ้ากรีกต่างนครไปแล้ว ส่วนตัวนางไซคิเองนั้นยังคงโดดเดี่ยว เปลี่ยวใจอยู้เพียงผู้เดียว เวลาล่วงเลยต่อไปอีกไม่นาน บิดามารดาของนางก็เกิดอาการวิตกจริตเกรงว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนี้คงน่าจะต้องอะไรบางอย่างที่บกพร่องไปแน่ หรืออาจเป็นเพราะตนเองได้กระทำสิ่งใดลงไปโดยขาดความคิด รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ ทำให้เทพเจ้าลงโทษให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ ทำให้ท้าวเธอตัดสินใจที่จะบวงสรวงเสี่ยงทายพยากรณ์ต่อเทพอพอลโล และเขาก็ได้รับคำพยากรณ์กลับมาว่า คู่ครองของนางหาใช่มนุษย์ปุถุชนธรรมดาไม่ แต่คู่ครองของนางในภายหน้านี้กำลังรอคอยนางอยู่บนยอดแห่งขุนเขาต่างหาก เขาผู้นี้เป็นอมนุษย์ที่ไม่มีมนุษย์หรือเทพองค์ใดจะสามารถขัดขืนหรือต้านทานกำลังได้เลย
หลังจากทราบคำพยากรณ์ก็ทำให้คนทั้งหลายและบิดามารดาของนางไซคิเกิดความโศกเศร้าเป็นอย่างมาด สุดที่จะหาอะไรมาเทียบได้ แต่ตัวนางเองก๋ไม่ย่อท้อ และเห็นว่าชะตากรรมกำหนดไว้แล้วว่าชีวิตของนางต้องเป็นเช่นนี้ นางก็จะต้องยอมรับโดยดี จากนั้นก็ให้บิดามารดาของนางจัดเตรียมสิ่งของเพื่อส่งนางขึ้นไปบนยอดเขาเพื่อหาเนื้อคู่ ซึ่งประกอบไปด้วยขบวนแห่แหนอย่างยิ่งใหญ่ ฝูงชนที่เดินตามขบวนแห่แหนนี้ล้วนมีใบหน้าที่เศร้าหมอง ห่อเหี่ยว อาลัย และครั้นเมื่อทั้งหมดขึ้นไปถึงบนยอดเขาแล้ว ทุกคนก็ต่างพากันกลับเหลือแต่เพียงนางไซคิอยู่เพียงผู้เดียว พร้อมด้วยดวงใจที่ละห้อยละเหี่ยมายิ่งขึ้นไปกว่าเดิม
นางไซคิยืนสะอื้นด้วยความว้าเหว่และเต็มไปด้วยความโศกเศร้าแต่เพียงลำพังอยู่บนชะง่อนหินแห่งหนึ่งบนยอดเขาลูกนั้น ทันไดนั้นเอง เทพเสฟไฟรัสผู้เป็นเจ้าแห่งลมตะวันตกก็ได้บรรจงโอบอุ้มร่างของไซคิขึ้นจากยอดเขา และหอบหิ้วนางร่องลอยมา ณ สถานแห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยพืชพรรณที่มีสีเขียวขจีห้อมล้อมตัวนางไปหมด รุกขพฤกษานานาพรรณจากหลายหลากชาติล้วนดูร่มรื่น ซึ่งเมื่อนางไซคีพยายามเหลียวมองรอบกาย ก็พบเห็นสถานที่แห่งหนึ่งที่ประกอบไปด้วยซุ้มไม้ที่ดูแปลกพิกล ด้วยความสงสัย นางจึงเดินเข้าไปในที่แห่งนั้น และได้พบเห็นธารน้ำพุใสที่ไหลรินดังธารของแก้วผลึก เมื่อเดินต่อไปก็ได้พบกับพระตำหนักแห่งหนึ่งที่ตั้งสูงตระหง่านอยูในที่แห่งนั้น นางไซคิรู้สึกมีกำลังใจเบิกบานและมีความอาจหาญมากขึ้น นางจึงได้เดินเข้าไปในพระตำหนักแห่งนั้น สิ่งที่นางพบเห็นในตำหนักล้วนทำให้นางเกิดความแปลกประหลาดใจ เพราะทัศนาภาพล้วนอันวิจิตร ยากที่จะหาที่ใดในโลกมนุษย์เปรียบได้ แต่นอกจากความสวยงามตระการตาแล้วก็หามีสิ่งมีชีวิตใดๆ ปรากฏอยู่ ณ ที่แห่งนั้นเลย
ในขณะที่กำลังชมภาพความงามทั้งมวลทั้งมวลภายในตำหนักแห่งนั้นอยู่ นางไซคิก็เกิดได้ยินเสียงบางเสียงที่กำลังพูดอยู่กับนางไม่ห่างออกไป แต่นางไม่เห็นตัวผู้พูด เสียงนั้นบอกว่า “ข้าแต่นางนาฏผู้เป็นใหญ่ สิ่งทั้งปวงที่กำลังปรากฏแก่สายตาของท่านในที่นี้ล้วนเป็นสมบัติของท่านทั้งหมด พวกเราเจ้าของเสียงนี้ก็คือบริวารของท่าน ผู้ที่จะคอยปฏิบัติรับใช้ท่านตามคำสั่งทุกประการ ของให้ท่านจงวางใจในตัวพวกเราเถิด พวกเราจัดแจงหาห้องบรรทม และจัดการกระยาหารพร้อมสรรพด้วยรสชาติอันน่าพึงใจไว้แก่ท่านอย่างพร้อมเพรียงแล้ว ขอให้ท่านจงใช้ชีวิตตามอัธยาศัยเถิด” เมื่อสิ้นเสียงนั้น นางไซคิก็ปฏิบัติตามคำเชื้อเชิญและรอคอยที่จะพบกับ “อมนุษย์” ที่จะมาครองคู่กับนาง ระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่บนนั้น นางไซคีได้ยินเสียงดนตรีทิพย์ที่บรรเลงขับกล่อมเป็นที่ไพเราะเพราะพริ้งเป็นอย่างยิ่ง แต่ “อมนุษย์” ผู้เคียงคู่นางก็ไม่อาจปรากฎตัวในเวลากลางวันได้ แต่หากเป็นเวลาใรยามราตรีที่มืดมิด อมนุษย์ผู้นั้นจึงจะมาหาและจะจากไปเมื่อใกล้รุ่ง นางไซคิไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าคู่ครองของนางมีรูปร่างหน้าตาเป็นย่างไร นางได้ยินแต่เพียงคำหวานที่อมนุษย์ผู้นั้นพร่ำพรอด ซึ่งก็สามารถจูงใจนางให้รู้สึกเคลิบเคลิ้มและรู้สึกถึงความเสน่หาไปได้
ตลอดเวลาที่นางไซคิครองรักอยู่กับอีรอสเป็นเวลาแรมเดือน นางไม่อาจรับรู้ได้เลยว่าคู่ครองของนางคือใคร แม้ว่านางจะอ้อนวอนให้เขาบอกว่าตนเองเป็นใครสักเท่าใด อีรอสก็ยังไม่ยอม ยิ่งกว่านั้นยังสั่งห้ามให้นางไซคีจุดไฟในยามราตรีหรือพยายามถามถึงชื่อของเธออีกเป็นอันขาด โดยได้ให้เหตุผลไว้ว่า “เหตุใดเจ้าจึงต้องการเห็นข้า หรือว่าเจ้ายังคงสงสัยในความรักของข้าอยู่หรือไม่ หากวันใดที่เจ้าแลเห็นรูปร่างหน้าตาของข้า เจ้าอาจหมดความเทิดทูนหรือเกรงกลัวในรูปของข้าก็เป็นได้ ข้าเพียงอยากให้เจ้ารู้สึกรักใคร่ในตัวข้าในฐานะที่เป็นปุถุชนคนธรรมดาที่เสมอกัน ไม่อยากให้เจ้ารู้สึกเทิดทูนข้าในฐานะที่เป็นเทพที่สูงกว่าหรอกนะ” ด้วยคำพูดที่ว่ามานี้ทำให้นางไซคิต้องยอมจำนนต่อเหตุผลของอีรอส ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นางไซคีจึงไม่เซ้าซี้สอบถามความจากคู่ครองของนางอีกต่อไป
เวลาผ่าไป นางไซคีรู้สึกคิดถึงวงศาคนาญาติของนาง นางไซคิจึงขออนุญาตต่ออีรอสเพื่อเชื้อเชิญพี่สาวของนางได้มาเที่ยวชมในที่ตำหนักแห่งนี้ แม้ว่าอีรอสจะบ่ายเบี่ยงในครั้งแรก แต่ก็อนุญาตในที่สุด ทำให้พี่สาวทั้งสองของนางได้มีโอกาสขึ้นมาบนสถานที่แห่งนี้ได้ ครั้นมาพี่สาวทั้งสองขึ้นมาถึง ณ ยอดเขา ก็มีลมเสฟไฟรัสมาคอยพัดโบกโอบอุ้มสองนางนั้นให้เลื่อนลอยไปถคงยังตำหนักของไซคิ ซึ่งทำให้นางทั้งสองตกตะลึงในความวิจิตรงดงามเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อน้องสาวได้พาทั้งคู่เข้าไปในตำหนัก ก็ยิ่งเพิ่มความพิศวงในความงามอันแสนวิจิตรตระการตาของการตกแต่งภายในตำหนักมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อพวกเขาได้เจอกัน พี่สาวก็รีบถามเอาความจากนางไซคีว่าน้องสาวของตนอยู่กับอมนุษย์ผู้นี้ได้อย่างไร พร้อมได้รับรู้ว่าทั้งข้าทาสบริวารของน้องสาวในสถานที่แห่งนี้ก็มีเพียงแต่เสียง ไม่เคยเห็นตัว ซ้ำกว่านั้นคู่ครองของนางก็ไม่เคยปรากฎโฉมหน้าหรือบอกชื่อให้นางรับรู้เลย ทำให้สองนางพี่น้องพยายามยุยงน้องสาวถึงวิธีในการแอบลักลอบดูตัวคู่ครองของนาง เพราะหากรู้ว่าเป็นอมนุษย์ที่ทรลักษณ์จริงๆ จะได้ลงมือจัดการฆ่าเสีย
ไซคิจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำเสี้ยมสอนของพี่สาวอย่างเสียมิได้ โดยนางได้จัดแจงหาตะเกียงและมีดดาบแอบซ่อนไว้ไม่ให้อีรอสเห็น ครั้งเมื่ออีรอสหลับสนิทแล้ว นางจึงแอบจุดตะเกียงเพื่อลุกขึ้นส่องดูสามี แต่ภาพที่นางไซคิเห็นก็ทำให้นางรู้สำนึกถึงความผิดที่นางได้กระทำโดยล่วงละเมิดคำสั่งของสามีไปเสียแล้ว เนื่องจากภาพที่ปรากฎอยู่ตรงหน้านางหาใช่อมนุษย์ไม่ แต่กลับเป็นองค์เทพที่สง่างามหาที่เปรียบมิได้ แลที่ปฤษฎางค์ของอังสาก็มีปีกติดอยู่ทั้งสองข้าง ทำให้นางรับรู้ได้ในทันทีว่าสามีของนางคือ อีรอส
ขณะที่นางกำลังถือตะเกียงและเขยิบเข้าไปดูหน้าสามีอยู่ใกล้ๆอย่างเพลินตานั้น บังเอิญว่าน้ำมันตะเกียงได้หยดลงบนผิวของอีรอส ทำให้อีรอสสะดุ้งตื่นขึ้นมาจากนิทราในทันที เมื่ออีรอสเห็นเหตุการณ์ดังนั้น ก็กางปีกออกโผบินไปทางช่องแกลในทันใด แม้ว่านางไซคิจะพยายามโผติดตามไปแต่ก็กลับตกลงกับพื้น เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้อีรอสรู้สึกโกรธนางไซคิเป็นอย่างมาก ถึงกับออกปากว่า “ดูก่อนไซคิผู้โฉดเขลา เจ้าตอบแทนความรักที่ข้าให้ไปได้เพียงนี้เชียวหรือ เจ้าจงกลับไปหาพี่สาวทั้งสองของเจ้าที่เป็นผู้เสี้ยมสอนเช่นนี้เถิด ข้าจะลงโทษเจ้าโดยการลาจากเจ้าไปตลอดกาลนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ความรักของเราคงดำรงอยู่ไม่ได้หรอก หากเจ้าปราศจากความไว้วางใจที่มีให้ต่อกัน” ว่าแล้วอีรอสก็บินหายลับไปในอากาศ เมื่อนางไซคิคืนสติและเหลียวรอบกายก็พบว่าว่าทั้งตำหนักและอุทยานได้อันตรธานหายไปแล้ว หลงเหลือแต่นางที่กำลังยืนเดียวดายอยู่เพียงลำพัง พร้อมความทุกข์ระทม ว้าเหว่ที่เต็มจิตใจ จากนั้น ไซคิก็เดินทางออกจากที่นั่นเพื่อกลับไปหาพี่สาวทั้งสอง นางได้เล่าเหตุที่เกิดทั้งหมดให้แก่พี่สาวทั้งสองฟัง ซึ่งพี่ทั้งสองก็แกล้งทำเป็นเศร้าสลดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ความจริงแล้วรู้สึกลิงโลดที่น้องสาวของตนตกสวรรค์เป็นอย่างมาก พี่สาวทั้งสองคบคิดกันเพื่อจะกลับไปยังสถานที่แห่งนั้นอีก เพราะคิดว่าอีรอสอาจจะเลือกนางคนใดคนหนึ่งในสองพี่น้องเพื่อแทนที่นางไซคิ นางทั้งคู่จึงพากันขึ้นไปบนยอดเขาแห่งนั้นอีกครั้ง พร้อมกับเรียกให้ลมเสฟไฟรัสมารับตัวลงไป แต่เมื่อลงไม่ได้รับคำสั่งจากอีรอส จึงไม่ยอมมารับตัวพวกเขาเหมือนดั่งแต่ก่อน และนางแต่ละคนโผตัวออกจากยอดเขาเพราะคิดว่าลมเสฟไฟรัสมาคอยรับตัวนางไปแล้ว ก็ทำให้นางทั้งคู่พลัดตกจากเขาและตายไปในทันที
ส่วนนางไซคิก็ออกพเนจรเพื่อเที่ยวตามหาสามีไปในสถานที่ต่างๆ เมื่อนางพบใครก็จะสืบถามดะไปเสียหมดว่าพบเห็นสามีของนางหรือไม่ เช่นครั้งหนึ่งที่นางได้พบแพนผู้เป็นเทพบุตรขาแพะ แต่เทพองค์นี้ก็ช่วยอะไรไม่ได้ นอกเสียจากคอยรับฟังเรื่องราวและกล่าวปลอบใจนางเท่านั้น จนวันหนึ่ง ในขณะที่นางเดินทางมาถึงศาลเจ้าแม่ดีมิเตอร์ เทวีผู้ครองการเก็บเกี่ยว นางเห็นว่าเคียว ข้าวโพด และเครื่องมืออื่นๆ ของเจ้าแม่ วางสุมกันอยู่อย่างเกะกะไม่เป็นระเบียบ นางจึงคิดอยากจะช่วยจัดข้าวของเสียใหม่ให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น เมื่อเจ้าแม่ดีมีเตอร์รับรู้ ก็บังเกิดความสมเพชสงสารในตัวนางไซคิที่ต้องมาอาภัพในความรักของนางเป็นอย่างยิ่ง เจ้าแม่จึงแนะนำให้นางไซคิเดินทางไปที่ศาลเจ้าแม่อโฟร์ไดท์ เพื่อจะได้บวงสรวงอ้อนวอนขอความเห็นใจจากเจ้าแม่ดูสักครั้งหนึ่ง
แต่ว่าเจ้าแม่อโฟร์ไดท์ก็ยังไม่หายเคืองแค้นต่อนางไซคิ และบริภาษเปรียบเปรยว่าว่ากล่าวนางต่างๆนานา จนทำให้นางรู้สึกช้ำใจ มิหนำซ้ำยังสั่งให้นางทำการอย่างหนึ่งซึ่งยากเหนือกว่าที่มนุษย์ธรรมดาจะทำได้ นั่นก็คือ ให้นางแยกเอาเมล็ดพืชนานาชนิดที่ปะปนกันอยู่ในยุ้งฉาง เพื่อจำแนกออกจากกันเป็นพวกๆ และสั่งให้ทำให้เสร็จก่อนค่ำเพื่อเก็บเอาไว้ให้นกพิราบของเจ้าแม่ได้กิน หากนางสามารถทำได้สำเร็จ เจ้าแม่ก็จยกโทษครั้งนี้ให้
นางไซคินั่งมองดูธัญชาติด้วยความท้อถอยและสิ้นความคิดว่าควรจพทำประการใด แต่ทันใดนั้นเอง ก็มีฝูงมดฝูงหนึ่งออกมาช่วยกันขนเมล็ดข้าวนานาชนิดเพื่อแยกกองเอาไว้เป็นพวกๆ ซึ่งมดฝูงนั้นก็มาตามคำสั่งของเทพอีรอสนั่นเอง ทำให้งานครั้งนี้สามารถสำเร็จได้ภายในเวลาที่กำหนด และเมื่อเจ้าแม่ลงมาจากเขาโอลิมปัสและเห็นว่างานครั้งนี้สำเร็จเรียบร้อย ก็มิได้ทำตามที่พูดไว้ก่อนหน้านี้ แต่นางกลับบอกว่าที่นางไซคิทำสำเร็จได้คงไม่ใช่ด้วยฝีมือของตนเองเพียงคนเดียวเป็นแน่ และรู้ว่าวผู้ที่มาช่วยนางคงมิใช่ใครอื่นนอกเสียจากอีรอสเพียงผู้เดียว ทำให้เจ้าแม่ยังไม่ยอมยกโทษให้ และใช้ให้นางทำการอีกอย่างหนึ่งแทน
คราวนี้ เจ้าแม่อโฟร์ไดท์สั่งให้นางไซคิข้ามแม่น้ำสายหนึ่งเพื่อไปถอนขนแกะซึ่งไม่มีเจ้าของ ที่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำเพื่อนำมาถวายเจ้าแม่ ฝูงแกะเหล่านั้นล้วนมีขนเป็นทองคำซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าแม่พึงประสงค์เป็นอย่างมากที่สุด โดยนางไซคิจำเป็นต้องถอนขนแกะทุกตัวมาถวายให้จงได้ หลังจากรับคำสั่ง นางไซคิก็เดินทางไปถึงริมฝั่งแม่น้ำตั้งแต่ตอนเช้าตรู่ และได้ทำต้นอ้อริมฝั่งแม่น้ำเพื่อหน่วงกายนางเอาไว้ นางไซคิได้รับการช่วยเหลือจากเทพประจำแม่น้ำโดยแอบบอกความลับถึงวิธีที่ปลอดภัยที่จะไปนำเอาขนแกะทองคำมาให้ได้ ความลับที่ว่านี้มีอยู่ว่า ตั้งแต่ช่วงเวลาเช้าถึงเที่ยง แม่น้ำจะมีอันตรายเป็นอย่างมาก และฝูงแกะเหล่านั้นก็ดุร้ายเช่นกัน ถึงแม้นางจะสามารถข้ามแม่น้ำไปยังฝั่งตรงข้ามได้สำเร็จ ก็คงไม่วายถูกฝูงแกะเข้าทำลายจนเสียชีวิตเป็นแน่ แต่นางไซคิก็ไม่หมดความพยายาม เมื่อล่วงเลยเวลาเที่ยงไปแล้ว ทั้งฝูงแกะและแม่น้ำก็ดูสงบนิ่งมากขึ้น นางจึงค่อยๆข้ามแม่น้ำไป เมื่อนางข้ามไปถึงก็จะพบขนแกะทองคำที่ติดอยู่ตามพุ่มไม้ ให้นางเที่ยวเก็บเอาขนแกะทองคำเหล่านั้นจากสุมทุมพุ่มไม้ เถิด นางไซคิทำตามคำแนะนำของต้นอ้อทุกประการ ทำให้นางสามารถหอบเอาขนแกะทองคำจำนวนมาก มาถวายแก่เจ้าแม่อโฟร์ไดท์ได้สำเร็จ ทำให้เจ้าแม่ไม่สมหวังในการที่จะประทุษร้ายนางไซคิในครั้งนี้ เจ้าแม่จึงวางแผนต่อไปเพื่อหวังจะแกล้งหลอกใช้นางเพื่อทำธุระเป็นครั้งที่สาม
งานชิ้นที่สามที่เทวีอโฟร์ไดท์สั่งให้นางไซคิทำ ก็คือ ให้นางไปนำโถใบหนึ่งจากในยมโลกมาให่ได้ โดยนางต้องไปเฝ้าเพอร์เซโฟนีเทวีเพื่อทูลขอเครื่องประกอบความงามของเจ้าแม่ ก่อนจะให้บรรจุกลับมาในโถใบนี้ และที่สำคัญต้องนำกลับมาให้แก่ตนทันก่อนพลบค่ำวันนี้ คราวนี้นางไซคิเห็นว่านางคงต้องถึงแก่ความตายเป็นแน่ และคงหนีไม่พ้นเงื้อมือมัจจุราชอย่างแน่นอน แต่นางก็คิดในอีกแง่หนึ่งว่า คงจะดีเหมือนกันที่จะทำให้เรื่องราวทั้งหมดยุติลงเสียที และพยายามดั้นด้นเดินทางลงไปสู่ยมโลกที่มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถทำได้ ว่าแล้ว นางจึงขึ้นไปบนยอดหอคอยสูง เพื่อหมายจะกระโดดลงมาให้ตายแบบทรมานน้อยที่สุด แต่แล้วในบัดดล นางก็พลันได้ยินเสียงหนึ่งในหอคอยที่ลอยมากระทบหูนางเข้า คำพูดที่ว่านี้เป็นคำปลอบใจและคำบอกเล่าเพื่อบอกทางการเดินทางลงสู่ยมโลกโดยลัดเลาะไปตามถ้ำ จากนั้นให้ลงเรือจ้างของเครอนเพื่อข้ามแม่น้ำที่คั่นตรุที่ประทับของเทพฮาเดสเอาไว้ และยังบอกวิธีในการหลีกเลี่ยงเซอร์บิรัสหรือสุนัขสามหัวไม่ให้นางถูกทำร้ายด้วย อีกทั้งยังกำชับว่าระหว่างที่ยังอยู่ในยมโลก นางจะต้องห้ามกินผลไม้ใดๆเป็นอันขาด หากจะทานก็ทานได้แต่อาหารที่ทำจากแป้งเท่านั้น และหากเพอร์เซโฟนีเทวีได้มอบโถให้แก่นางแล้ว ห้ามนางเปิดดูโถนั้นเป็นอันขาด ซึ่งนางไซคิก็ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเสียงลึกลับนั้นอย่างเคร่งครัดทุกประการ เว้นแต่ข้อความสุดท้ายที่นางไม่สามารถทำได้ เพราะนางไซคิคิดว่าในโถใบนั้นคงจะบรรจุเอาความงามเอาไว้ หากนางเปิดโถออกดูก็คงจะทำให้ความงามพลุ่งขึ้นมาเสริมให้ตัวนางมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นด้วยความอยากรู้อยากเห็น จนลืมเสียงกำชับปริศนา ทำให้นางเปิดโถออกดู และทันใดนั้นเองนางก็ล้มสลบแน่นิ่งไปตลอดชีวิต เพราะสิ่งที่บรรจุอยู่ในโถมิใช่ความงามแต่ประการใด แต่เป็นความหลับในยมโลกที่ทำให้นางต้องสูญสิ้นชีวิตตลอดไป
ฝ่ายอีรอสซึ่งยังคงอยู่ในอำนาจพิษศรกามของตัวเองและหายโกรธในตัวนางไซคิแล้ว ก็รับรู้ว่านางไซคิกำลังประสบเคราะห์กรรมอยู่ และไม่สามารถเดินทางออกจากบาดาลได้ เพราะเผลอเปิดเอาความหลับออกดู อีรอสจึงเก็บเอาความหลับกลับคืนใส่โถ แล้วใช้เอาปลายศรสะกิดเบาๆไปที่ตัวนาง ทำให้นางสามารถฟื้นตื่นจากวิสัญญีภาพได้ ทันใดนั้นเอง อีรอสก็ได้ตัดพ้อชี้เพื่อชี้ให้นางไซคิเห็นโทษของความสอดรู้สอดเห็น ว่าบังเกิดภัยให้แก่นางถึงสองครั้งสองหนแล้ว จากนั้นก็ให้นางไซคิปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบจากจากเจ้าแม่อโฟร์ไดท์ต่อให้เสร็จ ส่วนตัวอีรอสเองจะขึ้นไปทูลขอต่อเทพซูส ให้ช่วยเกลี้ยกล่อมให้เจ้าแม่อโฟร์ไดท์ช่วยละเว้นโทษให้นางไซคิเสียที ซึ่งเทพซูสก็ได้ให้ตามที่อีรอสขอ หลังจากที่เจ้าแม่อโฟร์ไดท์ยอมละเว้นโทษแก่นางไซคิแล้ว เทพซูสก็ได้ประทานน้ำอมฤตให้นางไซคิดื่ม ซึ่งมีผลให้นางไซคิสามารถอยู่ยืนยาวเป็นอมตะ และได้ครองรักกับอีรอสตลอดไปโดยไม่ต้องพลัดพรากจากกันอีกต่อไป
ที่มา http://www.tumnandd.com/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%AA-eros-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD-cupid/