วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2559

Ares อาเรสแทพแห่งสงคราม

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Ares อาเรสแทพแห่งสงคราม

      เทพแอรีส หรือ มาร์ส (Mars) ตามที่ชาวโรมันชอบเรียก ถือเป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม อาวุธ และชุดเกราะ หรือเป็นหนึ่งในสิบสองของเทพโอลิมปัสด้วย

      แอรีส เป็นเทพแห่งสงครามไม่ต่างกับ อธีน่า เพียงแต่อธีน่าจะได้รับการยกย่องมากกว่า เพราะอธีน่าถือเป็นเทพีที่ใช้สมองในการวางแผนสู้รบได้เป็นอย่างดี และทำให้เทพีองค์นี้ได้รับการบูชาในฐานะที่เป็นเทพีแห่งสติปัญญาไปด้วยในเวลาเดียวกัน ในขณะที่ แอรีสเป็นเทพที่นิยมใช้ความดุดันและโหดร้ายมากกว่าการใช้สติปัญญาในการสงครามมากกว่า ดังที่กวีกรีกโบราณคนสำคัญที่ชื่อว่า โฮเมอร์ เคยเขียนถึงเทพแอรีสว่า พระองค์เป็นเทพที่โหดร้ายและหยาบช้ามากองค์หนึ่ง

      แอรีส ได้ลอบเป็นชู้รักกับเทวีอโฟรไดท์ ผู้เป็นบุตรของเทพปริณายกซูสกับเจ้าแม่ฮีรา และเป็นที่น่ารังเกลียดของเทพและมนุษย์ทั้งปวง ยกเว้นแต่เพียงชาวโรมันที่รักในการสงครามเท่านั้น

      ชาวโรมันมีความรักเทิดทูนในเทพองค์นี้เป็นอย่างยิ่ง โดยถึงกับแต่งตั้งให้เป็นเทพบิดาของ โรมิวลัส (Romulus) ผู้สร้างกรุงโรม อีกทั้งยังสรรเสริญความดความชอบของเทพองค์นี้อีกหลายประการ ในทางตรงกันข้าม ชาวกรีก กลับไร้ซึ่งความนิยมเลื่อมใสในเทพองค์นี้เลยแม้แต่น้อย  และยังถือด้วยว่า เธอเป็นเทพที่มีนิสัยดุร้าย ป่าเถื่อน และไร้ความเมตตากรุณา

      ในมหากาพย์อิเลียด ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบทกวีในการสงคราม ก็มีการพูดถึงเทพแอรีสไว้เช่นกัน แต่เธอจะถูดพูดถึงในเชิงเกลียดชังตลอดทั้งเรื่อง นักกวีโฮเมอร์ได้ประณามเธอว่า เทพแอรีส เป็นผู้ที่ยินดีในการประหัตประหาร มีมลทินด้วยเลือด ซึ่งเป็นอุบาทว์สำหรับมนุษย์ทั้งปวง จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ชาวกรีกถือว่าเทพแอรีสเป็นเทพอันธพาลของกรีกเลยก็ว่าได้

      ประวัติของเทพแอรีสกล่าวไว้ว่า เทพอาเรสเป็นหนึ่งในโอรสระหว่างองค์เทพซูสกับเทวีฮีร่า และทรงเป็นโอรสที่ถูกพระบิดาตราหน้าว่า “เจ้าเป็นที่น่ารังเกียจ น่าชัง มากที่สุดในบรรดาลูกของข้าทั้งหมด เจ้าทั้งโหดร้าย และดื้อด้านเหมือนกับแม่เจ้าไม่ผิด!”  ซึ่งก็ถือว่าเป็นคำพูดที่ตรงกับอุปนิสัยใจคอของเทพอาเรสมากที่สุด นอกจากเทพแอรีส จะมีนิสัยดังกล่าวแล้ว อาเรสยังเป็นเทพที่หุนหันพลันแล่น โมโหง่าย และรักในความรุนแรงเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นอุปนิสัยที่แตกต่างกับเจ้าแม่เอเธน่าเป็นอย่างมาก แม้ว่าพระองค์จะเป็นเทวีแห่งสงครามเช่นกัน เพราะเทพเอเธน่านั้นมีลักษณะนิสัยที่สุขุมนุ่มลึก ฉลาด และเต็มไปด้วยความกล้าหาญ ทำให้ได้รับการยกย่องจากมนุษย์และเทพทั้งปวง

      ด้วยเหตุผลที่ว่ามานี้ จึงทำให้เทพอาเรสรู้สึกอิจฉาริษยาเป็นอย่างมาก และตัดพ้อว่า “เหตุใดฟ้าที่ส่งให้อาเรสมาเกิดแล้ว จึงต้องส่งเอเธน่ามาเกิดด้วยเล่า” ทำให้เมื่อทั้งสองต้องพบกันทีไร ก็มักจะเกิดเหตุทะเลาะวิวาทกันเสียทุกครั้งไป ตามตำนาน มีเหตุการณ์การทะเลาะกันที่สำคัญอยู่ครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อทั้งสองไปพบกันกลางทาง และเกิดมีปากเสียงกันอย่างเคย เทพอาเรสโกรธมาก จึงบันดาลโทสะขว้างจักรอันมีฤทธิ์แรงกล้าไม่ต่างกับอสนีบาตขององค์ซูสเทพ เข้าใส่เอเธน่า แต่เจ้าแม่ก็หลบได้ทัน แล้วทรงทุ่มหินที่วางอยู่ข้าง ๆตอบกลับไป แต่พอดีว่าหินก้อนนั้นไม่ใช่หินธรรมดา แต่กลับเป็นหินที่ตั้งไว้เพื่อบอกอาณาเขต  เมื่อหินนั้นกระทบถูกร่างของอาเรส ก็ทำให้อาเรสถึงกับล้มลง เทวีเอเธน่าจึงได้กล่าวเยาะเย้ยเทพแอรีสด้วยว่า “เจ้าโง่! ศึกครั้งนี้ ก็น่าจะทำให้เจ้ารู้ได้แล้วใช่ไหมว่าพละกำลังของเรามีมากขนาดไหน ครางหน้าคราวหลังอย่าคิดจะมารบกวนเราอีกต่อไปเลย!”

      การเป็นเทพแห่งสงครามตามปกติ จะต้องชนะการรบในทุกที่ แต่สำหรับเทพอาเรสแล้วกลับเป็นผลในทางตรงข้าม เพราะเขามักจะปราชัยเสียมากกว่า เพราะนอกจากจะพ่ายแพ้แก่เทวีเอเธน่าแล้ว เทพแอรีสยังพ่ายแพ้ต่อมนุษย์อีกหลายคนด้วย เช่น วีรบุรุษเฮอร์คิวลิส ผู้ที่เคยสังหารโอรสของอาเรสมาแล้ว ส่วนในครั้งที่ผู้เป็นพ่อเข้าช่วยลูก ก็เกือบถูกต่อยตี จนเทพแอรีสต้องหลบหนีไปยังโอลิมปัสแทบไม่ทัน เมื่อเรื่องดังกล่าวถึงหูเทพซูส ไท้เธอก็ตัดสินให้เลิกลากันไป เพราะ เฮอร์คิวลิสก็ถือเป็นโอรสของเทพซูสเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าเขานั้นมีมารดาเป็นเพียงแค่มนุษย์สามัญเท่านั้น

      เทพอาเรสเดินทางไปไหนต่อไหนได้โดยรถศึกเทียมม้าที่มีฝีเท้าจัดมากมาย และมีแสงเกราะและแสงศาตราวุธของเธอเป็นอาวุธคู่กาย ที่คอยส่องแสงสว่างเจิดจ้าบาดตาบุคคลผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก เทพแอรีสมีบริวารคู่ใจที่คอยตามติดอยู่ 2 คน ได้แก่ เดมอส (Deimos) ที่หมายความว่าความกลัว กับ โฟบอส (Phobos) ที่หมายความว่า น่าสยองขวัญ บางตำนานกล่าวว่าบริวารทั้งสองนี้ถือเป็นโอรสของเทพอาเรส ส่วนในเชิงดาราศาสตร์ หากตั้งชื่อดาวอังคารว่า มาร์ส ตามชื่อเทพแห่งสงครามแล้ว จึงมีการก็ตั้งชื่อดวงจันทร์ที่เป็นบริวารที่โคจรอยู่รอบดาวอังคารทั้งสองดวงว่า เดมอส กับ โฟบอส ตามไปด้วย

      อาเรสก็มีตำนานด้านความรักเหมือนเทพองค์อื่นๆ เขาได้เร่ร่อนหารักไปเรื่อยๆในโอลิมปัส แต่ไม่ได้ยกย่องให้ใครเป็นชายา อย่างไรก็ตาม มีเรื่องราวความรักของอาเรสที่สำคัญอยู่ครั้งหนึ่ง เรื่องราวนี้เกิดขึ้นตอนที่ได้ลักลอบไปเป็นชู้กับเทวีแห่งความงามและความรัก ที่มีชื่อว่า อโฟรไดท์

      การที่เทพอาเรสเป็นที่รังเกียดของเทพและมนุษย์ชาวกรีก พฤติการณ์ความรักการลอบเป็นชู้กับเทวีอโฟรไดท์ครั้งนี้ จึงเป็นที่ดูถูกดูแคลนและถูกกล่าวหาอย่างรุนแรงจากมวลเทพที่คิดจะจ้องจับผิดด้วย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก็เพราะความมืดในราตรีกาล หากยังไม่มีใครทราบเรื่องหรือจับผิดได้แบบคาหนังคาเขา พฤติการณ์ลักลอบเป็นชู้ของเธอก็จะยังคงถูกเก็บเป็นความลับเรื่อยมา แต่เหตุเพราะเธอเกรงกลัวแสงสว่าง ซึ่งเปรียบได้กับนักสืบของเทพอพอลโล ถ้านักสืบผู้นี้แฉพฤติการณ์ความผิดของเธอให้เทพอพอลโลรับรู้ เทพอพอลโลก็คงจะนำเรื่องราวไปทูลบอกแก่เทพฮีฟีสทัสอย่างแน่นอน เธอจึงได้จ้างยามหนุ่มน้อยไว้คนหนึ่ง เขามีนามว่า อเล็กไทรออน (Alectryon) เพื่อให้คอยปลุกเธอเมื่อตอนใกล้รุ่งนั่นเอง

      แต่เมื่อครั้งที่ความแตก ก็เป็นเพราะอเล็กไทรออนเผลอหลับเพลินจนถึงรุ่งเช้า ทำให้เทพอพอลโลได้เห็นความจริงว่าอาเรสกับอโฟรไดท์ได้หลับอยู่ด้วยกัน เทพอพอลโลโกรธมาก จึงนำเรื่องนี้ไปบอกแก่เทพฮีฟีสทัส ฮีฟีสทัสลงโทษโดยการนำร่างแหเหล็กที่เคยเตรียมสานไว้ก่อนหน้านี้  มาทอดครอบไปยังอาเรสกับอโฟรไดท์ แล้วให้เทพทั้งปวงมาร่วมกันดูแคลน และหัวเราะร่วนกันอย่างสนุกสนานครื้นเครง ก่อนจะปล่อยตัวทั้งสองไป ฝ่ายอาเรสก็รู้สึกอัปยศอดสูกับการโดนประจานต่อหน้าธารกำนัลครั้งนี้ยิ่งนัก และได้สาปให้อเล็กไทรออนกลายเป็นไก่ เพื่อทำหน้าที่คอยขันปลุกคนในยามใกล้รุ่งทุกเช้า เพื่อเป็นการลงโทษที่เขาแอบหลับยามจนนำความพินาศมาสู่เทพแอรีสนั่นเอง ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อกันว่า ไก่ผู้ทุกตัวที่เกิดขึ้นบนโลก ได้รับการสืบสกุลมาจากไก่อเล็กไทรออนตัวนี้ทั้งสิ้น

      ส่วนเทวีอโฟร์ไดท์ ก็ได้ประสูติธิดาออกมาองค์หนึ่งมีชื่อว่า อาร์โมเนีย ซึ่งในเวลาต่อมา นางก็ได้เป็นราชินีแห่งนครธีบส์

ที่มา  http://www.tumnandd.com/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%AA-ares-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD-mars/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น