วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2559

Pan แพนเทพแห่งธรรมชาติ

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Pan แพนเทพแห่งธรรมชาติ

      ในบรรดาเทพทั้งหลายในวงศ์โอลิมเปี้ยน มีเทพอยู่องค์หนึ่งที่มีลักษณะไม่เหมือนกับทวยเทพองค์อื่นๆ เพราะเทพองค์นี้มีร่างกายที่เป็นกึ่งมนุษย์กึ่งสัตว์ เธอมีชื่อว่า “เทพแพน” นั่นเอง อย่างไรก็ตาม เทพองค์ดังกล่าวก็ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นเทพองค์หนึ่งในสวรรค์ชั้นโอลิมปัส

      แพน (Pan) เป็นเทพผู้เป็นหลานของซูสเทพบดี เพราะเธอเป็นโอรสของเทพเฮอร์มีส กับนางพรายน้ำตนหนึ่ง ว่ากันว่า แพนเป็นเทพแห่งทุ่งโล่งและดงทึบ หรืออาจเรียกว่าเป็น เทพแห่งธรรมชาติทั้งปวงก็ได้ นอกจากนี้ คำว่า “แพน” ในภาษากรีกก็ยังมีความหมายว่า “All” ที่แปลถึงทั้งหลายหรือทั้งปวงนั่นเอง

      หากกล่าวถึงรูปลักษณ์ของเทพองค์นี้ ก็พบว่ามีรูปร่างที่ผิดแปลกไปจากเทพองค์อื่น ๆ ที่มักจะมีรูปสวยสง่างาม  เทพแพนเป็นเทพที่มีลักษณะผสมระหว่างมนุษย์กับสัตว์ โดยเทพแพนมีร่างกายและหน้าตาที่เป็นมนุษย์ แต่อวัยวะท่อนล่างกลับเป็นแพะ อีกทั้งยังมีเขาปรากฎอยู่บนศีรษะและมีหนวดเคราเช่นแพะด้วย

      ตำนานเล่าเกี่ยวกับประวัติของเทพแพนไว้น่าสนใจยิ่ง กล่าวคือ เมื่อครั้งหนึ่งที่แพนได้ไปพบเห็นนางพรายน้ำตนหนึ่งที่มีชื่อว่า ไซรินซ์ (Syrinx) เข้า แพนก็เกิดความรู้สึกถูกชะตาและถูกใจเป็นอย่างมาก แพนจึงติดตามพรายน้ำตนนั้นไปด้วยความรัก แต่นางพรายน้ำตนนั้นกลับไม่ยินดีที่จะร่วมรักด้วย เนื่องจากเกรงกลัวในรูปร่างแปลกประหลาดของเทพแพน นางพรายน้ำจึงวิ่งหนีเตลิดไป แพนก็เองก็ยังไม่ลดละความพยายาม และออกไล่ตามหานางพรายน้ำจนมาถึงริมน้ำ เมื่อนางพรายน้ำเห็นว่าน่าจะหนีเทพแพนไม่พ้น จึงได้ตะโกนออกไปเพื่อขอความช่วยเหลือจากเทพแห่งท้องธาร

      คำร้องของนางพรายน้ำสัมฤทธิ์ผล เพราะเทพแห่งท้องธารรู้สึกสงสารในตัวนาง จึงได้ดลบันดาลให้นางพรายน้ำกลายเป็นต้นอ้อที่ประดับอยู่ ณ ริมฝั่งน้ำ เมื่อเทพแพนมาถึงที่บริเวณนี้และได้รู้ความจริงว่านางพรายน้ำคิดจะปฏิเสธตนเช่นนี้ ก็รู้สึกโศกเศร้าเป็นหนักหนา เทพแพนจึงได้ตัดเอาต้นอ้อต้นนั้น มามัดเข้าด้วยกัน และใช้เป็นเครื่องดนตรีเพื่อเป่าบรรเลงอย่างไพเราะสืบมา

ที่มา  http://www.tumnandd.com/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%99/

Orpheus ออร์ฟีอัสนักดีดพิณระดับเทพในตำนานกรีก

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Orpheus ออร์ฟีอัสนักดีดพิณระดับเทพในตำนานกรีก

     ในสมัยโบราณกาลก่อน  ชาวกรีกถือเอาว่าการเล่นดนตรีเป็นของสูง  และให้ความนับถือนักดนตรีเป็นอย่างมาก ทำให้ไม่น่าแปลกใจเท่าไรเลยว่า ทำไมชาวกรีกจึงต้องอุปโลกน์ให้เทพเจ้าหลายองค์เป็นนักดนตรีที่มีฝีมือ  หรืออย่างน้อยก็ต้องเป็นเทพผู้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องดนตรีบางชนิดขึ้นมา  อย่างเช่นเทพีเอเธน่าหรือมิเนอร์วาซึ่งเป็นผู้ครองเกษตรกรรมและมีฝีมือในเรื่องการเย็บปักถักร้อย อีกทั้งเธอยังเป็นผู้ประดิษฐ์ขลุ่ยขึ้นมา  แม้ว่าเธอเองจะไม่ได้ทรงขลุ่ยเองด้วยซ้ำ ส่วน แพนเทพขาแพะก็ถือเป็นผู้ประดิษฐ์ปี่อ้อ ที่หากผู้ใดได้ลองเป่าจะทำให้เกิดเสียงอันเสนาะเพราะพริ้งราวกับเสียงนกไนติงเกลในวสันตฤดู  ในขณะที่ เทพเฮอร์มิสเทพผู้ครองการพาณิชกรรมและการสื่อสาร ก็ถูกยกให้เป็นผู้ประดิษฐ์พิณถึอ ที่เรียกว่า ไลร์ (Lyre) และมอบให้แด่เทพอพอลโลเพื่อใช้ในการบรรเลงเพลงขับกล่อมเหล่าเทพบนเขาโอลิมปัสอยู่เสมอ  ส่วนคณะศิลปวิทยาเทวีที่ถึงแม้จะไม่มีเครื่องดนตรีทำเพลง  แต่นางเหล่านั้นก็มีเสียงขับร้องอันแสนไพเราะหาใครมาเสมอเหมือนได้   และสุดท้ายคือ เทพอพอลโลที่นอกจากจะครองเกษตรกรรมและประณีตศิลปแล้ว  ยังเป็นผู้ครองการดนตรีที่ไพเราะเพราะพริ้งโดยตรงอีกด้วย

     นอกจากเทพเจ้าที่มีฝีมือในการดนตรีแล้ว  ก็ยังปรากฎมีนักดนตรีที่เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาอีกหลายคน ซึ่งตำนานกล่าวว่า มนุษย์เหล่านี้ก็มีฝีมือที่ดีเยี่ยมเกือบจะเทียบเท่าเหล่าเทพเช่นกัน  ซึ่งมนุษย์ผู้ที่มีฝีมือด้านการดนตรีที่โดดเด่นที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น ออร์ฟิอัส (Orpheus) อย่างแน่นอน

     ตำนานกล่าวไว้ว่า ฝีมือการดีดพิณของออร์ฟิอัสนั้นไพเราะเพราะพริ้งเป็นที่สุด  คราใดที่เสียงพิณอันไพเราะเสนาะหูของออร์ฟิอัสล่องลอยไปกลางดง  ก็มีพลังเพียงพอที่จะทำให้กระแสน้ำอันเชี่ยวกรากหยุดไหล หรือแม้แต่สัตว์ป่าอย่างเสือสิงห์ที่แสนดุร้าย ก็กลับเชื่องและซบเซาลงไปได้ถนัดตา ส่วนนางอัปสรทั้งหลายก็ต่างเคลิบเคลิ้มหลงไหลเมื่อได้ยินเสียงบทเพลงจากออร์ฟิอัส และหวังจะให้ออร์ฟิอัสมาเชยชมสมสมัยไปตามๆ กัน

     ตำนานกล่าวไว้ว่า ออร์ฟิอัสได้แสดงฝีมือในการบรรเลงบทเพลงอันแสนไพเราะไว้มากมาย  ยกตัวอย่างเช่นเมื่อครั้งที่ออร์ฟิอัสไปสมทบกับเรือของเยสันเพื่อไปขนเอาขนแกะทองคำกลับมา ด้วยความที่ทุกคนต่างรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการพายเรืออย่างเต็มที่จนแทบจะพายต่อไปไม่ไหวแล้ว ออร์ฟิอัสจึงได้ดีดพิณเพื่อขับกล่อมให้ฝีพายทั้งหลายรู้สึกหลงลืมในความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าไปหมดสิ้น  หรือเมื่อครั้งที่พวกผู้กล้าในเรือเกิดบางหมางใจจนทะเลาะกันอย่างรุนแรง ออร์ฟิอัสก็ได้ใช้เสียงพิณในการขับกล่อมให้พวกเขาคลายโทสะลง ผู้กล้าในเรือจึงบรรเทาความโกรธลงไปจนหมดสิ้น และไม่ทำให้เกิดเหตุร้ายขึ้น หรือเมื่อใดที่เรือล่องผ่านน่านน้ำแห่งหนึ่งในบริเวณที่ใกล้กับแหลมปิโลรัสในเกาะซิสิลี  ซึ่งเป็นบริเวณน่านน้ำที่ชาวกรีกโบราณเล่าขานถึงความน่ากลัวสืบต่อกันมา เนื่องจากในน่านน้ำแห่งนี้ถือเป็นที่อยู่ของนางอัปสรไซเรน (Siren) ผู้มีน้ำเสียงที่ไพเราะจับใจ ซึ่งเสียงของนางจะหลอกล่อให้เรือทุกลำที่แล่นผ่านลอยหลงคว้างกลางมหาสมุทร และทำให้ลูกเรือทั้งหมดต้องอดอาหารจนตาย  ซึ่งเมื่อเรือของออร์ฟิอัสแล่นผ่านมาที่บริเวณดังกล่าว แล้วนั้นได้ยินกับเสียงเพลงของนางไซเรนเข้า ออร์ฟิอัสก็ได้ดีดพิณขึ้นเพื่อกลบเสียงขับร้องของนางไซเรน  ออร์ฟิอัสพยายามจูงใจให้คนในเรือหันมาฟังเสียงพิณของตนแทน  ซึ่งเป็นผลให้เรือของผู้เขาสามารถล่องผ่านร่องน้ำแห่งนี้ได้สำเร็จ และคนในเรือของเยสันทั้งหมดจึงสามารถรอดจากความตายมาได้นั่นเอง

     ออร์ฟิอัส เป็นบุตรของนางคัลลิโอพี และเป็นเทวีประจำบทกวีในคณะเทวีศิลปวิทยา ซึ่งบางตำนานก็กล่าวกันว่า ออร์ฟิอัสมีบิดาเป็นเทพอพอลโล แต่บ้างก็ว่าเป็นเทพเฮอร์มิส ซึ่งบิดาของเขาได้ประทานพิณคู่กายให้แก่ออร์ฟิอัสมาตั้งแต่เธอยังเป็นเด็กน้อย และเมื่อออร์ฟิอัสเจริญวัยเติบโตขึ้น ออร์ฟิอัสก็ไม่เคยใส่ใจต่ออะไรทั้งสิ้นนอกเสียจากการดีดพิณแต่เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม เสียงพิณของออร์ฟิอัสก็ทำให้นางอัปสรทั้งหลายต่างพากันมั่นหมายอยากจะได้ออร์ฟิอัสมาเป็นคู่ชิดเชยชม แต่ก็ยังไม่มีนางอัปสรผู้ไหนที่จะสามารถเอาชนะใจของออร์ฟิอัสได้เลย ยกเว้นนางอัปสร ยุริดดิซี่ (Eurydice)

     แต่ความรักระหว่างเขาทั้งสองกลับไม่ใช่ความสุข แต่กลับเป็นความทุกข์เนื่องจากชะตาฟ้าเล่นตลก เมื่อออร์ฟิอัสกับนางยุริดดีซีได้วิวาห์กันนั้น คบเพลิงของไฮเมน (Hymen) ผู้เป็นเทพครองการวิวาห์เกิดเป็นควันโขมง แทนที่จะเป็นเปลวไฟอันส่องสว่าง ซึ่งเหตุการณ์นี้ถือเป็นลางบอกเหตุร้ายในการครองคู่ของทั้งสอง ทำให้ต่อมาไม่นาน นางยุริดดิซึก็ถูกงูพิษกัดจนเสียชีวิต ทำให้ดวงวิญญาณของเธอล่องลอยออกจากเรือนร่างไปสู่ยมโลก การจากไปครั้งนี้ทำให้ออร์ฟิอัสรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ชีวิตของเขากับต้องพังทลายลงอย่างรวดเร็ว ออร์ฟิอัสจึงได้บนบานศาลกล่าวเพื่อขอให้ซูสเทพปริณายกโปรดชุบให้นางยุริดดิซีคืนชีวิตกลับมา เทพซูสเห็นแก่ออร์ฟิอัส แต่ท่านก็ไม่อาจจะทำตามสนองของออร์ฟิอัสได้ จึงได้แนะนำให้ออร์ฟิอัสลงไปตามหานางที่ยมโลกเอาเอง เพื่อที่ออร์ฟิอัสจะได้ทูลขอนางผู้เป็นที่รักคืนจากเทพฮาเดส

     ด้วยเหตุนี้เอง ออร์ฟิอัสจึงหาทางลงสู่บาดาล เมื่อเขาลงไปถึงเขตของเซอร์บิรัสที่มีสุนัขสามหัวเฝ้าประตูเข้าตรุชั้นในอยู่ ซึ่งเซอร์บิรัสจะไม่ยอมให้คนหรือวิญญาณผ่านเข้าออกจากประตูเป็นอันขาด เมื่อเห็นออร์ฟิอัสตรงมา มันจึงเห่าคำรามและแยกเขี้ยวต่อผู้คุกคามอย่างดุร้าย แต่ออร์ฟิอัสก็ไม่ท้อถอย เขาเริ่มบรรเลงบทเพลงด้วยการดีดพิณคู่มือ ซึ่งเมื่อเซอร์บิรัสได้ฟังเสียงเพลงขับกล่อมเข้าไป ก็ทำให้มันเซื่องเซาลงเพราะอำนาจของบทเพลงอันแสนไพเราะ และในที่สุดมันก็ยอมปล่อยให้ออร์ฟิอัสเข้าประตูไปด้วยความปลอดภัย

     เสียงเพลงที่ออร์ฟิอัสยังคงมีอำนาจ เพราะเมื่อก้องกังวาลไปทั่วแดนบาดาลลึกล้ำเข้าสู่ตรุทาร์ทะรัส ก็เปรียบประดุจมนต์สะกดที่ทำให้บรรดานักโทษที่กำลังรับโทษทัณฑ์ด้วยความทรมานอยู่ในยมโลก หลงลืมความทรมานที่มีไปได้ในชั่วขณะหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่เพียงเท่านั้น เพราะอำนาจความขลังของบทเพลงจากออร์ฟิอัส ก็ยังแสดงเหตุการณ์อันแสนแปลกประหลาดอีกมากมาย และเมื่อออร์ฟิอัสสามารถล่วงเข้าไปถึงในเขตตรุทาร์ทะรัส เขาก็ได้ดั้นด้นเดินทางต่อไปจนไปถึงที่ประตูหน้าที่ประทับของฮาเดสกับเทวีเพอร์เซโฟนีผู้เป็นมเหสี ซึ่งรายล้อมไปด้วยเทวีทัณฑกรที่ไร้ความปรานี ถือเป็นภาพที่ไม่มีมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่คนไหนมีโอกาสได้ประจักษ์แก่สายตาเลย  เพราะคงไม่มีผู้มีชีวิตคนใดที่สามารถล่วงล้ำไปไกลถึงที่นั่นดั่งที่ออร์ฟิอัสทำได้ในครั้งนี้

     เมื่อออร์ฟิอัสพบกับเทพฮาเดส เขาก็ทูลความมุ่งหมายของตนต่อเทพฮาเดสให้ไท้เธอได้ทราบถึงวัตุประสงค์ในการล่วงล้ำเข้าไปถึงตรุทาร์ทะรัสในครั้งนี้ จากนั้นก็บรรเลงบทเพลงดีดพิณคร่ำครวญโหยหวนอย่างสุดฝีมือเพื่อรำพึงรำพันถึงความทุกข์ของตน ซึ่งการขับกล่อมบทเพลงของออร์ฟิอัสครั้งนี้ ก็สามารถบันดาลให้เทพฮาเดสรู้สึกตื้นตันใจเป็นอย่างมาก จนถึงกับกลั้นอัสสุชลไว้ไม่ไหว เทพฮาเดสจึงอนุญาตให้ออร์ฟิอัสสามารถพานางยุริดดิซีกลับขึ้นไปยังโลกมนุษย์โลกได้อีกครั้ง แต่มีเงื่อนไขข้อห้ามที่ออร์ฟิอัสจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด นั่นก็คือ ห้ามออร์ฟิอัสเหลียวหลังมองดูนางในระหว่างการเดินทางจากยมโลกขึ้นสู่โลกมนุษย์เป็นอันขาด

     ออร์ฟิอัสรีบยอมรับเงื่อนไขด้วยความดีใจ และออกเดินนำหน้านางยุริดดิซีออกจากตรุทาร์ทะรัสไป เขาได้เดินทางลัดเลาะกลับไปตามทางเก่า โดยพยายามข่มใจไม่ให้หันหน้ามองซ้ายและขวาแม้แต่น้อย แต่ใจก็ยังพะวงถึงนางผู้เดินตามหลังมาตลอดทาง แม้ว่าออร์ฟิอัสจะรู้อยู่แก่ใจดีว่านางนั้นยังคงเดินตามมาอยู่ใกล้ ๆ แต่ก็ยังไม่วายเป็นห่วง พอออร์ฟิอัสเดินออกไปจนถึงที่สว่างแล้ว และกำลังจะก้าวเท้าออกจากคูหาที่จะลงสู่บาดาล ออร์ฟิอัสไม่ทันเฉลียวใจว่านางยุริดดิซียังคงอยู่ข้างใน เขาจึงหันหลังขวับเพื่อไปดูเพื่อตรวจดูให้รู้ว่าที่รักของเขาตามเขามาทันหรือไม่ แต่ออร์ฟิอัสหันมาดูเร็วเกิน ไป เพราะนางยุริดดิซียังไม่ทันจะเดินออกพ้นปากคูหา ทำให้เขาได้แต่เห็นภาพหล่อนแบบมัวๆอยู่ในที่มืด ออร์ฟิอัสยื่นมือออกไปเพื่อจะรับหล่อนออกมา แต่ก็ต้องเสียใจเพราะนางยุริดดิซีนั้นกลับหายวับไปแก่สายตาอย่างฉับพลัน ซึ่งออร์ฟิอัสได้ยินแต่เพียงเสียงแว่วๆเพียงว่า “ขอลาลับ” กลับมาเท่านั้น

     ออร์ฟิอัสเสียใจในความผิดพลาดของตนเองจนแทบคลั่ง และถลันตัวตามนางกลับลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ทันเสียแล้ว เพราะเขาไม่อาจล่วงล้ำดินแดนบาดาลลงไปได้อีกเป็นครั้งที่สอง ออร์ฟิอัสจึงจำเป็นต้องเดินทางกลับขึ้นมาด้วยความสิ้นหวังและหมดอาลัยตายอยากในชีวิต ออร์ฟิอัสหมดสิ้นแม้กระทั่งความเอาใจใส่ในการบรรเลงพิณ และ เที่ยวพเนจรไปอย่างไร้จุดหมายจนเดินทางมาถึงแดนของชนชาติป่าเถื่อนที่ดุร้ายในแคว้นเธรส และออร์ฟิอัสก็ถูกหญิงชาวป่าที่นับถือเทพไดโอนิซัสกลุ้มรุมฆ่าตาย แต่ก่อนจะตายออร์ฟิอัสก็ยังคงรำพันถึงแต่  “ยุริดดิซี” แบบไม่ขาดปากจนวิญญาณหลุดลอยออกจากร่างไป บรรดาสายน้ำ ลำธาร รุกขชาติ และน้ำพุก็ต่างพากันจดจำคำรำพันของออร์ฟิอัสเพื่อมาทวนพร่ำพรรณาอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่นั้นมา

     ในที่สุด วิญญาณของออร์ฟิอัสล่องลอยไปเจอกับนางยุริดดิซีผู้เป็นที่รัก ส่วนศิลปเทวีก็ได้นำเอาซากศพออร์ฟิอัสไปฝังไว้ที่ตีนเขาโอลิมปัส ณ ตำบลที่นกไนติงเกลร้องเพลงได้ไพเราะเสนาะหูกว่าที่ไหนๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นนี้  อีกทั้ง ทวยเทพทั้งหลายก็ได้ประสิทธิ์ประสาทให้พิณถือของออร์ฟิอัสกลายเป็นดวงดาวกลุ่มหนึ่งที่มีชื่อว่า “ไลรา (Lyra)” เพื่อให้ผู้คนได้ระลึกถึงฝีมือการบรรเลงพิณ รวมถึงเรื่องราวอันแสนโศกเศร้าของออร์ฟิอัสยาวนานตั้งแต่วันนั้นจนถึงทุกวันนี้

ที่มา  http://www.tumnandd.com/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9F%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%AA-orpheus/

Hermes เฮอร์เมสเทพแห่งการสื่อสาร

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Hermes เฮอร์เมสเทพแห่งการสื่อสาร

       เมอร์คิวรี่ (Mercury) หรือ เฮอร์มีส (Hermes) เป็นเทพบุตรผู้เป็นลูกของซูสเทพบดี กับ นางมาย หรือ เมยา (Maia) เฮอร์มีสเป็นเทพที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักกันอย่างมาก และมักเห็นรูปของเธอปรากฏบ่อยครั้งมากกว่าเทพองค์อื่น ๆ ผู้คนมักจะนำเอารูปของเทพองค์นี้ หรือของวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งของเธอ เช่น เกือกมีปีก เป็นต้น มาเป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายที่บ่งบอกความเร็ว ซึ่งนอกจากเกือกติดปีกแล้ว ยังมีหมวกติดปีก และไม้ถืออันศักดิ์สิทธิ์ติดปีก ซึ่งแสดงถึงว่า เธอนั้นสามารถ “ไปได้เร็วเพียงความคิด” ทีเดียว

       ‘เพตตะซัส (Petasus)’ คือ หมวกมีปีก ส่วน ‘ทะเลเรีย (Talaria)’ คือ เกือกมีปีกของเฮอร์มีส ซึ่งเป็นสิ่งของที่เฮอร์มีสได้รับประทานมาจากซูสเทพบิดา ซึ่งโปรดให้เธอทำหน้าที่เป็นเทพผู้สื่อสารประจำพระองค์ ส่วน ‘กะดูเซียส (Caduceus)’ ก็คือไม้ถือศักดิ์สิทธิ์ ที่เดิมทีแล้วเป็นของเทพอพอลโลที่มีไว้ใช้สำหรับต้อนวัวควาย เพราะครั้งหนึ่งเฮอร์มีสได้ไปขโมยวัวของอพอลโลไปซ่อน เมื่ออพอลโลเกิดระแคะระคายสงสัยก็มาทวงถามให้เฮอร์มีสคืนวัวให้แก่เธอ แต่เฮอร์มีสที่ยังอยู่ในวัยเยาว์กลับย้อนถามอย่างหน้าตาเฉยว่า วัวอะไรที่ไหนกัน เธอนั้นไม่เคยเห็น และไม่เคยได้ยินมาก่อน ทำให้อพอลโลต้องนำความไปฟ้องต่อเทพบิดาซูส เพื่อให้พระงองค์ช่วยไกล่เกลี่ยคืนวัวให้แก่ตนเจ้า หลังจากที่อพอลโลได้วัวคืนตามต้องการแล้ว ก็ไม่ได้จะถือเอาความต่อเทพผู้น้องแต่อย่างไร แม้ว่าวัวของอพอลโลจะขาดหายไป 2 ตัว เนื่องจากเฮอร์มีสนำไปทำเครื่องสังเวยก็ตาม อพอลโลเห็นว่าเฮอร์มีสนั้นมีพิณคันหนึ่งที่เรียกว่า ไลร์ (lyre) ซึ่งเป็นของประดิษฐ์ที่เฮอร์มีสทำขึ้นมาเองจากกระดองเต่า อพอลโลก็เกิดความอยากได้ จึงได้นำเอาไม้กะดูเซียสของตนไปแลกกับพิณของเฮอร์มีส ทำให้ไม้ถือกะดูเซียสกลายเป็นสมบัติและเป็นสัญลักษณ์ของเฮอร์มีสนับตั้งแต่ครั้งนั้นมา ซึ่งเดิมทีแล้ว ไม้กะดูเซียสนี้เป็นไม้ถือที่มีปีกลุ่น ๆไม่มีการตกแต่งอันใด  แต่ต่อมา เมื่อเฮอร์มีสถือไม้ไปพบงู 2 ตัวที่กำลังต่อสู้กัน เธอจึงนำเอาไม้กะดูเซียสทิ่มเข้าไประหว่างกลาง เพื่อห้ามไม่ให้งูทั้งสองวิวาทกัน แต่งูนั้นได้เลื้อยขึ้นมาพันอยู่กับไม้ และหันหัวเข้าหากัน ซึ่งนับแต่นั้นเป็นต้นมางูทั้งสองตัวนี้ ก็พันอยู่คู่กับไม้ถือกะดูเซียสตลอดไป อีกทั้งเรื่องเล่านี้ก็ยังทำให้ไม้ถือกะดูเซียสกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นกลาง รวมไปถึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการแพทย์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัตจุบันนี้ด้วย

       หน้าที่ของเฮอร์มีสไม่ได้เป็นเพียงเทพพนักงานที่ช่วยสื่อสารของเทพซูสเท่านั้น แต่เทพเฮอร์มีสยังเป็นเทพครองการเดินทาง การพาณิชย์ และการตลาด ที่เหล่าหัวขโมยนับถือบูชากันด้วย เพราะว่า เฮอร์มีสเคยขโมยวัวของอพอลโลตามที่เล่าเอาไว้ข้างต้น  เฮอร์มีสยังมีหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ที่จะนำพาวิญญาณคนตายลงไปสู่ยมโลก จนได้รับสมญานามอีกชื่อหนึ่งว่า “เฮอร์มีสไซโคปอมปัส (Hermes Psychopompus)”  หรืออาจกล่าวได้ว่า เฮอร์มีสถือเป็นคนกลางในการสื่อสารหรือประกอบกิจการต่างๆทุกประการ ทุกๆอย่างจึงอยู่ภายใต้การสอดส่องดูแลของเฮอร์มีสทั้งสิ้น

       แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าแปลกใจในตัวของเฮอร์มีส ก็คือ ถึงแม้ว่าเฮอร์มีสจะเป็นโอรสของซูสเทพบดีกับนางเมยา (Maia) ซึ่งเป็นเพียงแค่อนุภรรยา แต่เฮอร์มีสก็ทรงเป็นโอรสเพียงองค์เดียวของซูส ที่เทวีฮีร่าไม่ทรงรู้สึกเกลียดชัง ในทางตรงข้าม กลับเรียกหาให้เฮอร์มีสเข้ามาอยู่ใกล้ ๆ ด้วยอย่างบ่อยครั้ง ทั้งนี้ก็คงเป็นเพราะนิสัยและบุคลิกของเทพเฮอร์มีสที่มีใจรักในการช่วยเหลือทุกคน ไม่ว่าจะเป็นทวยเทพหรือแม้แต่มนุษย์ธรรมดา ดั่งที่ครั้งหนึ่งเฮอร์มีสเคยได้มีโอกาสช่วยปราบยักษ์ร้ายฮิปโปไลตุล หรือช่วยเทพซูสผู้เป็นบิดาให้พ้นจากการทำร้ายของยักษ์ไทฟีอัส อีกทั้งยังช่วยอนุองค์หนึ่งของเทพบิดาที่ชื่อว่า นางไอโอ ให้รอดจากความตายจากการถูกสังหารของอาร์กัสที่อสูรพันตาของเจ้าแม่ฮีร่า หรือการช่วยเหลือเลี้ยงดูไดโอนิซัสตั้งแต่แรกเกิด ส่วนในด้านการช่วยเหลือมนุษย์ เฮอร์มีสก็ไม่ขาดตกบกพร่อง เพราะเธอเคยช่วยเหลือเปอร์ซีอุสจากการถูกนางการ์กอนเทดูซ่าสังหาร  ช่วยเหลือเฮอร์คิวลิสเมื่อตอนที่ต้องเดินทางสู่แดนบาดาล อีกทั้งยังช่วยเหลือโอดีสซีอัสให้รอดพ้นจากการถูกนางเซอร์ซีทำร้าย และช่วยเหลือให้เตเลมาดุสสามารถตามหาบิดาของตนจนพบ เป็นต้น

       แต่เฮอร์มีสก็ยังมีนิสัยบางอย่างเช่นเดียวกับเทพบุตรองค์อื่น ๆ ตรงที่ไม่ได้ยกย่องหญิงผู้ใดมาเป็นชายาของตนแบบเป็นทางการ ได้แต่สมัครรักใคร่หญิงงามต่างๆนานาไปทั่วแบบนับไม่ถ้วน มีเรื่องเล่าว่า เฮอร์มีสชอบเสด็จลงไปในแดนบาดาลอยู่บ่อย ครั้ง เพราะเธอแอบไปหลงเสน่ห์ของเทวีเพอร์เซโฟนี ผู้เป็นชายาของเทพฮาเดส จ้าวแดนบาดาลนั่นเอง ส่วนความรักกับหญิงที่เป็มนุษย์ ก็พบว่าเฮอร์มีสก็มีรักร่วมกับสตรีมนุษย์มากมายเช่นกัน  เช่น อคาคัลลิส (Acacallis) ผู้เป็นธิดาของท้าวไมนอสแห่งกรุงครีต เป็นต้น และเมื่อเฮอร์มีสเดินทางขึ้นไปสู่สวรรค์โอลิมปัสก็ได้ไปเกิดหลงรักกับเทวีเฮเคตี และเทวีอโฟร์ไดที่ ในทำนองรักข้ามรุ่น

ที่มา  http://www.tumnandd.com/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B9%80%E0%B8%AE%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%AA-hermes-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%84/

Dionysus ไดโอนิซัสเทพองุ่นและน้ำเมา

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Dionysus ไดโอนิซัสเทพองุ่นและน้ำเมา

      ไดโอนิซัส (dionysus) หรือ แบกคัสตาม เป็นเทพที่ได้รับการยกย่ององค์หนึ่งในคณะเทพโอลิมเปียน และยังเป็นที่นับถือกันอย่างแพร่หลายในฐานะเทพผู้พบและผู้ครองผลองุ่น อีกทั้งยังเป็นเทพผู้ครองน้ำองุ่น ตลอดจนความมึนเมาเนื่องด้วยการดื่มน้ำองุ่นด้วย

      ตำนานของ ไดโอนิซัส เริ่มต้นจากการเป็นบุตรของซูสเทพบดี กับนางสีมิลีผู้เป็นธิดาของแคดมัสผู้สร้างเมืองธีบส์ และนางเฮอร์ไมโอนี ต้นกำเนิดของเทพไดโอนิซัสไม่ได้เป็นเรื่องที่ดีมากนัก และนับว่าน่าสงสารมากทีเดียว เพราะเธอนั้นเกิดมาด้วยเพราะความหึงหวงของเจ้าแม่ฮีรา ดังที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

      เมื่อตอนที่เทพปริณายกซูสได้แอบไปมีความสัมพัทธ์พิศวาสกับนางสีมิลี โดยเทพซูสได้จำแลงองค์ลงมาเป็นชายหนุ่มปกติและลงมาแทะโลมและร่วมสมสู่ด้วย และแม้ว่านางสีมิลีจะรับรู้เพียงแต่คำบอกเล่าของมานพผู้นี้ แต่ก็ไม่มีอะไรสามารถพิสูจน์ได้ว่ามานพผู้นี้คือเทพซูสจริง อย่างไรก็ตาม นางสีมิลีก็พึงพอใจและยินดีในความรักครั้งนี้ โดยไม่ได้คิดติดใจแต่ประการใด แต่ไม่ช้าเรื่องราวความรักของทั้งคู่ระหว่างซูสเทพบดีกับนางสีมิลี ก็เกิดแพร่งพรายไปถึงหูเจ้าแม่ฮีรา เจ้าแม่รู้สึกหึงหวงในตัวสามีของเธอมาก จึงมุ่งมั่นที่จะยุติเรื่องนี้เสียที ว่าแล้วนางก็จึงจำแลงกายงมาเป็นนางพี่เลี้ยงแก่ของนางสีมิลี และลอบเข้าไปในห้องของนาง พี่เลี้ยงแก่ตัวปลอมพยายามชวนนางสีมิลีคุยเรื่องต่างๆนานาและชักโยงไปถึงเรื่องความรักของนาง และได้กล่าวให้นางคล้อยตามเกี่ยวกับประวัติอันน่าสงสัยของชายผู้เป็นสามี เพื่อให้นางเกิดความรู้สึกสงสัยว่าชายคนดังกล่าวเป็นเทพซูสจำแลงลงมาจริงหรือ โดยบอกให้ชายผู้นั้นปรากฏกายในรูปลักษณ์จริงๆของเทพเจ้าให้นางสีมิลีเห็น ซึ่งนางสีมิลีก็หลงเชื่อในคำแนะนำ และตกลงที่จะทำตามคำกล่าวที่พี่เลี้ยงแก่ชี้ทาง



      เมื่อซูสเสด็จลงมาหานางสีมิลีอีกครั้ง นางจึงพยายามหว่านล้อมให้ไท้เธอสาบาน โดยอ้างถึงแม่น้ำสติกซ์ให้เป็นทิพยพยานว่าไท้เธอจะโปรดประทานอนุญาตตามคำที่นางขอหนึ่ง ประการ เมื่อไท้เธอได้สาบานแล้ว นางจึงทูลความประสงค์ให้ซูสเทพบดีทราบ ซึ่งทำให้ไท้เธอถึงแก่ตกตะลึงเพราะไม่คิดว่านางจะทูลขอในเรื่องนี้ แต่ไท้เธอก็ตระหนักในความจริงข้อหนึ่งดีว่า หากไท้เธอสำแดงองค์จริงให้นางสีมิลีเห็น จะทำให้นางสีมิลีที่เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก แต่ไท้เธอก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสาบานที่เธอได้ออกปากไปอย่าง เคร่งครัดโดยไม่สามารถบ่ายเบี่ยงได้ เพราะหากละเมิดต่อคำสาบานที่อ้างถึงแม่น้ำสติกซ์อันศักดิ์สิทธิ์เป็นทิพยพยาน ย่อมบังเกิดผลร้ายต่อเทพผู้สาบานทุกองค์ไม่เว้นแม้แต่องค์เทพบดีซูสเอง

      สุดท้าย เทพซูสก็ตัดสินใจเนรมิตองค์จริงให้ปรากฏต่อหน้านางสีมิลี เมื่อนางสีมิลีได้เห็นภาพจริงของไท้เธอแล้วด้วยสายตาอันพร่าพราว นางก็เกินจะทนต่อทิพยอำนาจของไท้เธอได้  และในชั่วพริบตาเดียวก็บังเกิดเป็นกองไฟลุกขึ้นเผาผลาญกายนางจนวอดวายกลายเป็นจุณไป ทำให้นางถึงแก่ความตายไปในที่สุด ซึ่งในขณะนั้น นางสีมิลีจะกำลังทรงครรภ์อยู่ และแม้ว่าเทพซูสจะไม่อาจจะช่วยเหลือชีวิตของนางไว้ได้ แต่ก็ยังสามารถช่วยชีวิตบุตรของไท้เธอออกมาจากกองไฟได้ทันเวลา จากนั้นก็เก็บทารกเอาไว้ในต้นชานุมณฑลของไท้เธอเอง เมื่อครบเวลากำหนดคลอด ทารกก็สามารถคลอดออกมาได้สำเร็จจากต้นชานุมณฑลของไท้เธอ จากนั้น เทพซุสก็ได้มอบทรากของตนให้นางอัปสรพวกหนึ่งที่มีชื่อว่า ไนสยาดีส (Nysiades) เป็นผู้เลี้ยงดูอนุบาล ซึ่งนางอัปสรพวกนี้ก็ได้เลี้ยงดูเอาใจใส่ทารกผู้น้อยนี้เป็นอย่างดีด้วยความรักใคร่ทะนุถนอม ส่งผลให้เทพซุสโปรดเนรมิตให้พวกเธอได้กลายเป็นกลุ่มดาวกลุ่มหนึ่ง ที่มีชื่อว่า ไฮยาดีส (Hyades) ส่วนทารกน้อยที่นางอัปสรช่วยเลี้ยงดู มีมีนามว่า ไดโอนิซัส หรือ แบกคัส นั่นเอง

      แม้ว่าต้นกำเนิดที่แท้จริงของไดโอนิซัสจะเป็นเพียงกึ่งมนุษย์กึ่งเทพ แต่ไดโอนิซัสก็ได้รับการยอมรับให้เป็นเทพอย่างสมบูรณ์เหมือนกับเทพองค์อื่นๆ อีกทั้งยังมีอมฤตภาพไม่แตกต่างไปจากเหล่าเทพสภาอื่น ๆ บนสวรรค์ชั้นโอลิมปัสด้วย อย่างไรก็ตาม ไดโอนิซัสหลงรักในการเดินทางท่องเที่ยวไปบนผืนดินอันกว้างใหญ่เป็นชีวิตจิตใจ และไม่ว่าจะไปทางไหนก็ทรงนพาความชุ่มชื้นแห่งสุราเมรัยติดไปด้วย จึงทำให้เกิดเป็นกลุ่มบุคคลสองกลุ่มที่เคารพและเหยียดนามไดโอนิซัส สำหรับคนที่มองเห็นถึงคุณงามความดีของไดโอนิซัส ก็จะพากันเคารพนับถือ แต่สำหรับคนใดที่ดูถูกเหยียดหยาม ก็มักถูกลงโทษเสมอ  แต่ในครั้งที่ไดโอนิซัสเพิ่งจะดำรงตำแหน่งเทพ ทำให้ไดโอนิซัสไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้คนหันมานับถือตนเองเสียเท่าไร แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า คุณและโทษของเธอก็เริ่มประจักษ์ชัดเจนขึ้น ทำให้มนุษย์ส่วนใหญ่หันมาทำความเคารพนับถือ และร่วมกันสร้างวิหารถวายแด่เทพเมรัยองค์นี้เป็นการใหญ่

      ว่ากันว่า ไดโอนิซัส เป็นเทพที่ทำให้พื้นดินเต็มไปด้วยองุ่นรสเลิศที่ล้วนแต่มีคุณประโยชน์มากมาก ทั้งประโยชน์ด้านความอิ่มหนำสำหรับ และความชื่นบานเมื่อได้บริโภค แต่ก็มีหลายครั้งหลายหน ที่ไดโอนิซัสทำให้ผู้คนกลายเป็นคนวิกลจริตไปได้ ดังตัวอย่างของสตรีกลุ่มหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า เมนาดส์ (Maenads) พวกเขาเหล่านี้ถูกพิษของเมรัยเล่นงาน จนทำให้เป็นบ้าเสียสติไปเสียทุกคน พวกนางต่างพากันกระโดดโลดเต้น และร้องรำทำเพลงไปตามป่าอย่างไร้สติด้วยอำนาจของสุรา และบางครั้งก็เข้ามาห้อมล้อมเพื่อติดสอยห้อยตามไดโอนิซัสไปด้วย ในยุคโรมัน หลังจากที่ไดโอนิซัสได้มีนามเป็นภาษาละตินว่า แบกคัส (Bacchus) คณะนางผู้เสียสติที่รอบล้อมไดโอนิซัส ก็ได้รับชื่อใหม่ว่า แบกคันทีส(Bacchantes) เช่นกัน ซึ่งภาพของเทพองค์นี้ก็มักจะเป็นภาพที่แสนประหลาดกว่าเทพองค์อื่นๆ เพราะจะเห็นเป็นชายหนุ่มรูปงามที่แวดล้อมไปด้วยผู้หญิงบ้าตามติดไปตลอดการเดินทาง

      เมื่อกล่าวถึงเรื่องราวความรักของไดโอนิซัส ก็มีอยู่บ้างแต่มักเป็นความรักที่ไม่ได้ลงเอยด้วยความสุขเสียเท่าไร กล่าวคือ ตอนที่ไดโอนิซัสไปพบกับอาริแอดนี่ (Ariadne) ธิดาเจ้ากรุงครีตที่มีนามว่าท้าวไมนอส และได้ช่วยเหลือนางเอาไว้ เรื่องราวเริ่มต้นจากที่ท้าวไมนอสได้เลี้ยงอสูรร้ายตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า มิโนทอร์ เอาไว้ใต้ดิน และเมื่อวีรบุรุษธีลิอัสได้เดินทางไปยังครีต ก็ได้ตกเป็นเหยื่อแก่มิโนทอร์ อาริแอดนี่เองก็เกิดมีใจหลงรักกับเจ้าชายหนุ่ม จึงพยายามหาทางช่วยเหลือ และสามารถพาหนีออกเกาะครีตได้สำเร็จ แต่ทว่านางอาริแอดนี่กลับถูกทอดทิ้งเอาไว้อย่างเดียวดายบนเกาะร้างแห่งหนึ่งเพียงลำพัง ซึ่งพอดีที่ไดโอนิซัสผ่านไปพบเข้า จึงเกิดความสงสารและหลงรักนาง แต่ความรักที่มีก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะสุดท้ายนางอาริแอดนี่ก็สิ้นชีวิตลงในที่สุด ทำให้ไดโอนิซัสรู้สึกเสียใจอย่างหนัก และไม่คิดจะไม่มีรักใหม่อีกเลย

      ส่วนชีวิตของไดโอนิซัสเองนั้นก็แสนเศร้าพอๆ กับความรักของตัวเอง เพราะคงไม่มีใครคิดหรอกว่า เทพไดโอนิซัสผู้มีกายเป็นอมฤตภาพ จะมีโอกาสสิ้นใจตายได้เช่นกัน เรื่องเล่านี้ถูกถ่ายทอดโดยนักกวีชาวกรีกโบราณที่เขียนขึ้นตามความเป็นจริงของต้นองุ่น เรื่องเล่ามีอยู่ว่า

      เมื่อถึงฤดูกาลเก็บองุ่น ชาวบ้านจะตัดเอากิ่งองุ่นที่เคยติดเต็มต้นออกไปหมด และเหลือเอาไว้แต่เพียงต้นองุ่นเดี่ยวๆ ซึ่งมองดูน่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเห็นเพียงลำต้นลุ่น ๆ ปราศจากกิ่งก้านสาขา แต่เพียงไม่นาน ต้นองุ่นก็จะค่อย ๆฟื้นตัวก และแตกแยกกิ่งก้านและใบออกมาใหม่อย่างสวยงาม และต่อจากนั้นไม่นานก็จะผลิดอกออกผลมาเป็นที่เจริญตาอย่างยิ่ง ซึ่งก็เปรียบเหมือนตามตำนานของเทพไดโอนิซัส กล่าวคือ เทพไดโอนิซัสเคยถูกยักษ์เผ่าวงศ์ไทแทนรุมทำร้ายอย่างโหดร้ายน่าสยองขวัญ ไดโอนิซัสถูกยักษ์ฉีกร่างออกเป็นชิ้น ๆ เปรียบดั่งต้นองุ่นที่ถูกตัดกิ่งก้านสาขา แต่ไม่นานนัก เทพไดโอนิซัสก็สามารถฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ได้อีกครั้ง และในเวลาที่เธอฟื้นขึ้นมาจากความตายนี่เอง ที่ทำให้ทั้งเทวดาและมนุษย์ต่างพาก็ชื่นชมยินดี และร่วมจัดงานเฉลิมฉลองกันอย่างรื่นเริงเพื่อรับขวัญกันอย่างเอิกเกริก ซึ่งการฟื้นจากความตายครั้งนี้ก็เพราะไดโอนิซัสได้ช่วยเหลือจากมารดาที่เธอไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน ให้สามารถรอดพ้นจากเงื้อมือของยมเทพได้  และนำเธอขึ้นไปสถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นโอลิมปัสได้อย่างปลอดภัย

      เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อ เทพไดโอนิซัสได้พยายามติดตามหามารดาไปจนถึงปรโลก ซึ่งเมื่อได้พบแล้ว เธอก็พยายามขอมารดาคืนจากยมเทพฮาเดส แต่มัจจุราชก็ไม่ยินยอมที่จะคืนให้ ทำให้เกิดปากเสียงโต้เถียงกันขึ้น ว่าใครนั้นมีอำนาจที่เหนือกว่า ไดโอนิซัสเปล่งวาจาออกไปคำเดียวว่า ตนนั้นมีอำนาจที่เหนือกว่ามัจจุราช เพราะสามารถจะตายและฟื้นคืนชีพได้อีก ซึ่งไม่เคยมีเทพองค์ใดสามารถทำได้อย่างไดโอนิซัสเลย ซึ่งเทพฮาเดสก็เห็นด้วยตามคำพูดของไดโอนิซัส จึงยอมปล่อยตัวนางสิมิลีให้แก่บุตรชายและปล่อยให้พาตัวออกจากแดนบาดาลไปอย่างปลอดภัย จากนั้น เทพไดโอนิซัสก็ได้พาตัวมารดากลับขึ้นสวรรค์ชั้นโอลิมปัส โดยมีเหล่าเทพน้อยใหญ่คอยต้อนรับนางสิมิลีเป็นอย่างดี และนางสีมิลีก็เป็นหญิงอมตะผู้เดียวที่สามารถอาศัยอยู่ท่ามกลางเหล่าเทพทั้งปวง โดยที่ฮีร่าเทวีไม่สามารถทำร้ายอะไรนางได้อีกต่อไป

      เทพไดโอนิซัส (Dionysus) หรือ Dionysos หรือ Bacchus ในเทพนิยายกรีกและโรมัน ถือเป็นทั้งเทพเจ้าแห่งไวน์ รวมถึงเป็นเทพผู้นำความเจริญด้านอารยธรรม(Civilization) , ผู้กำหนดกฏระเบียบ(Lawgiver) , ผู้รักในสันติภาพ (Lover of Peace) และเป็นผู้รวบรวมเอาความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร (Agriculture) มาไว้ด้วยกัน และยังเป็นเทพที่มีความสำคัญในการละคร (Theater) ด้วย และในบางแห่งก็ขนานนามเทพองค์นี้ว่า “The god of cats and savagery” หรือ “เทพแห่งเหล่าหญิงเลวและคนป่าเถื่อน”

      สัญลักษณ์แห่งเทพไดโอนิซัส ก็คือ วัวตัวผู้(Bull), งูใหญ่(Serpent), ต้นไอวี่ และไวน์ (The ivy and wine) และมีพาหนะเป็นเสือดาว ดังจะเห็นภาพของไดโอนิซัสที่มักจะออกมาในรูปของเทพผู้ขี่เสือดาว (Leopard) สวมใส่อาภรณ์เป็นหนังเสือดาว หรืออาจเป็นเทพผู้ทรงราชรถที่ถูกชักลากโดยเสือดำ(Panthers)

ที่มา  http://www.tumnandd.com/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%8B%E0%B8%B1%E0%B8%AA-dionysus/

Hephaestus ฮีฟีสทัสเทพแห่งช่างและโลหะ

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Hephaestus ฮีฟีสทัสเทพแห่งช่างและโลหะ

      ฮีฟีสทัส (Hephaestus) หรือ วัลแคน เป็นเทพโอลิมเปียนผู้ครองการช่างโลหะ เทพองค์นี้มีประวัติความเป็นมาแตกต่างกันเป็น 2 นัย ดังว่าไว้ว่า นัยที่หนึ่ง กล่าวกันว่า ฮีฟีสทัสเป็นเทพบุตรของเจ้าแม่ฮีราและเทพปรินายกซูสโดยตรง ใรขณะที่อีกนัยหนึ่งกล่าวว่า ฮีฟีสทัสเกิดจากเจ้าแม่ฮีรา แต่เป็นการผุดออกมาจากเศียรของเจ้าแม่เพียงลำพังตนเอง คล้ายๆกับกรณีของเทวีเอเธน่า ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยความต้องการของเจ้าแม่ฮีราที่ต้องการจะแก้ลำซูสในการกำเนิดของเทวีเอเธน่า เพื่อแสดงให้เทพทั้งหลายทราบว่า หากซูสสามารถให้กำเนิดเทวีเอเธน่าได้ เจ้าแม่ฮีร่าก็สามารถทำให้ฮีฟีสทัสเกิดเองได้เองเช่นกัน

       แม้ว่าแหล่งกำเนิดของเทพฮีฟีสทัสจะเป็นอย่างไรก็ตาม ก็ต้องถือเอาว่าฮีฟีสทัสถือเป็นเทพบุตรของซุสด้วยเช่นกัน จะเห็นได้ว่า ฮีฟีสทัสติดและเข้ากับแม่ได้มากกว่าพ่อ และทุกครั้งที่พ่อกับแม่ทะเลาะกันตามประสาที่เทพซูสเจ้าชู้ หรือเจ้าแม่ฮีร่าขี้หึง ก็จะมีฮีฟีสทัสเข้าข้างฝ่ายแม่อยู่ตลอด ในครั้งหนึ่งที่ซูสต้องการจะลงโทษเจ้าแม่ฮีราให้เข็ดหลาบโดยการใช้โซ่ทองล่ามแขวนเจ้าแม่เอาไว้กับกิ่งฟ้าและห้อยโตงเตงลงมา ฮีฟีสทัสก็ทนดูไม่ได้และรีบเข้าช่วยแก้ไขโซ่ให้เจ้าแม่ทันทีเพื่อจะทำให้เจ้าแม่เป็นอิสระ ทำให้ซูสเกิดโมโหและบันดาลโทสะจับฮีฟีสทัสโยนลงมาจากสวรรค์ ซึ่งทำให้ฮีฟีสทัสต้องตกจากสวรรค์เป็นเวลานานถึง 9 วัน 9 คืน

      ฮีฟีสทัสตกลงมาที่มนุษย์โลก ณ บริเวรเกาะเลมนอสในทะเลเอจีน และเพราะโดนบิดาขว้างลงมาจึงทำให้บาทของเธอแปเป๋ไปข้างหนึ่งและกลายเป็นคนพิการตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เหตุเพราะเธอต้องการจะช่วยเหลือมารดานั่นเอง แต่ก็ไช่ว่าเจ้าแม่ฮีราผู้เป็นมารดาจะเหลียวแลเธอไม่ เพราะด้วยความที่ฮีฟีสทัสเป็นเทพบุตรที่กำเนิดขึ้นมาจากความโทมนัสอย่างแสนสาหัส ทำให้เจ้าแม่แสดงความเฉยเมยต่อฮีฟีสทัส ทำให้ฮีฟีสทัสตั้งปณิธานในจิตว่าจะไม่กลับขึ้นไปเหยียบบนเขาโอลิมปัสอีก และได้สร้างวังเพื่อเป็นที่ประทับอยู่ ณ เกาะเลมนอสแห่งนั้น พร้อมกัมได้ตั้งโรงหล่อเพื่อให้กำเนิดช่างฝีมือประกอบโลหะนานาชนิด โดยฮีฟีสทัสมีลูกมือเป็นพวกยักษ์ไซคลอปส์ อีกทั้งยังสร้างบัลลังก์ทองคำที่เปล่งปลั่งไปด้วยลวดลายที่สลักเสลาอย่างสวยงามหาที่เปรียบมิได้ขึ้นมาตัวหนึ่ง ซึ่งบัลลังก์แห่งนี้เป็นบัลลังก์กลที่ประกอบไปด้วยลานกลไกซ่อนอยู่ภายใน จากนั้นจึงได้ส่งบัลลังก์อันนี้ขึ้นไปถวายต่อเจ้าแม่ฮีรา เมื่อเจ้าแม่ได้เห็นก็รู้สึกยินดีในรูปลักษณ์อันแสนงดงามของบัลลังก์กลเป็นอย่างมาก และตระหนักได้ว่าเป็นบัลลังก์ที่บุตรของตนทำขึ้นถวาย เมื่อเจ้าแม่ฮีร่าขึ้นประทับบนบังลังก์ เครื่องกลไกที่แอบซ่อนอยู่ภายใต้บัลลังก์ก็ดีดกระหวัดรัดองค์เจ้าแม่จนแน่นตรึงติดกับบัลลังก์อย่างมั่นคง และทำให้เจ้าแม่ไม่สามารถขยับเขยื้อนองค์ได้เลยแม้แต่น้อย และแม้ว่าเทพทั้งปวงจะมาช่วยกันแก้ไขปัญหา ต่างก็พากันจนปัญญาเพราะยังไม่เห็นหนทางที่จะปลดเปลื้องพันธนาการครั้งนี้ให้หลุดออกได้เลย

      ทำให้เฮอร์มีส เทพผู้มีลิ้นทูต ต้องเป็นเทพผู้อาสามาไกล่เกลี้ยความ เฮอร์มีสอ้อนวอนขอให้ฮีฟีสทัสช่วยขึ้นไปแก้ไขกลไกที่ฮีฟีสทัสทำไว้ แต่ “ลิ้นทูต” ของเฮอร์มีสครั้งนี้ไม่สามารถใช้กับฮีฟีสทัสได้ เพราะไม่ว่าเธอจะหว่านล้อมฮีฟีสทัสด้วยคำไพเราะสักเพียงใด ก็ไม่อาจเปลี่ยนใจฮีฟีสทัสให้กลับขึ้นไปบนเขาโอลิมปัสได้เลย ทำให้ทวยเทพต้องร่วมประชุมปรึกษากันอีกครั้งหนึ่ง และเล็งเห็นตรงกันว่าคงจะมีเพียงเทพไดโอนิซัสท่านั้นที่น่าจะพอช่วยได้ เทพทั้งหลายจึงพร้อมใจกันส่งไดโอนิซัสลงมาเกลี้ยกล่อมเทพฮีฟีสทัสหลงกลด้วยอุบาย วิธีการที่ไดโอนิศัสใช้ก็คือ การมอมฮีฟีสทัสด้วยน้ำองุ่นจนทำให้ฮีฟีสทัสมึนเมา จากนั้นไดโอนิซัสก็ลอบพาฮีฟีสศัสขึ้นไปที่สวรรค์เพื่อกลับไปแก้เครื่องกลพันธนาการที่ทำไว้กับเจ้าแม่ฮีราได้จนสำเร็จ นอกจากนี้ เทพไดโอนิศัสยังช่วยไกล่เกลี่ยให้เทพีฮีร่าและเทพฮีฟีสทัสเข้าอกเข้าใจกันอีกครั้งด้วย

      แม้ว่าฮีฟีสทัสจะได้รับการยกย่องเทียมเท่าเทพองค์อื่น ๆ ในคณะเทพโอลิมเปียน แต่ฮีฟีสทัสก็ยังไม่ยินยอมที่จะกลับขึ้นไปอยู่บนเขาโอลิมปัสอีกครั้ง แต่ฮีฟีสทัสจะขึ้นไปก็ต่อเมื่อมีการนัดประชุมเทพสภาเฉพาะกิจและในวาระอื่น ๆที่สำคัญเท่านั้น ส่วนในเวลาปกติ ฮีฟีสทัสจะเก็บตัวเองอยู่ในโรงหล่อ และหมกมุ่นกับงานช่างฝีมือของเธอตลอดเวลา ทำให้เทพฮีฟีสทัสเปรียบเป็นพระเวสสุกรรมของกรีกที่สำคัญองค์หนึ่ง เห็นได้จากการสร้างวังที่ประทับของเทพแต่ละองค์บนเขาโอลิมปัสนั้น ก็เป็นงานฝีมือของพนักงานของเทพฮีฟีสทัสแทบทั้งสิ้น อีกทั้ง เทพฮีฟีสทัสยังเป็นผู้ออกแบบตกแต่งตำหนักต่าง ๆภายในที่ประทับ โดยการใช้โลหะประดับมณีที่ดูแวววาวจับตาสวยงามเป็นที่สุด และเขาก็ได้ประกอบอสนีบาตเพื่อเป็นอาวุธถวายแก่ซูส รวมถึงเป็นผู้สร้างศรรักให้แก่อิรอสด้วย

ที่มา  http://www.tumnandd.com/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%AE%E0%B8%B5%E0%B8%9F%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%AA-hephaestus/

Venus เทพีแห่งความงามและความรัก

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Venus เทพีแห่งความงามและความรัก

      เทวีอโฟรไดที่ (Aphrodite) หรือ วีนัส (Venus) ถือเป็นเทวีองค์สำคัญที่มีความสัมพันธ์กับมนุษย์มากที่สุด เนื่องจากเทวีองค์นี้เป็นเจ้าแม่ผู้ครองความรักและความงาม มีอำนาจในการสะกดให้เทพและมนุษย์ทั้งปวงเกิดความลุ่มหลง รวมไปถึงสามารถลบเลือนสติปัญญาของบุคคลผู้ที่ฉลาดให้กลายเป็นคนโฉดเขลาไปได้ในทันที และเจ้าแม่ก็จะคอยดูถูกและหัวเราะเยาะเย้ยผู้คนที่ตกอยู่ในอำนาจของเจ้าแม่อยู่เสมอด้วย

      ต้นกำเนิดของเทวีอโฟร์ไดค่อนข้างยาวนาน โดยอาจจะเลยไปไกลกว่าตำนานของกรีกเสียอีก ทั้งนี้ก็เพราะเทวีอโฟรไดมีต้นกำเนิดมาจากดินแดนทางซีกโลกตะวันออก และถือกันว่าเจ้าแม่องค์นี้เป็นเทวีองค์แรกเริ่มของชนชาติฟีนีเซีย ที่เข้ามาตั้งรกรากอาณานิคมอย่างมากมายในดินแดนตะวันออกกลาง ตามตำนานที่เล่ากันมาบอกเอาไว้ว่าเจ้าแม่ถือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเทวีของชาวอัสสิเรียและบาบิโลเนีย ที่มีชื่อเรียกว่า อีชตาร์ (Ishtar) และก็ยังคงถือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเทวีของชาวไซโร-ฟีนิเซี่ยน ที่มีชื่อเรียกว่า แอสตาร์เต (Astarte) อีกด้วย ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ จึงทำให้เทวีอโฟรไดถือเป็นเทวีที่มีความสำคัญอย่างมากมาแต่ครั้งบรรพกาล

      ตำนานมหากาพย์อิเลียดของโฮเมอร์ ยกย่องนับถือให้เทวีอโฟรไดเป็นเทพธิดาของซูส และมีมารดาเป็นนางอัปสรไดโอนี (Dione) แต่บทกวีนิพนธ์ที่พบเจอในชั้นหลัง ๆ กลับกล่าวว่า เทวีอโฟรไดเกิดขึ้นมาจากฟองทะเล เนื่องจากคำว่า Aphros ที่เป็นส่วนหนึ่งของชื่อของชื่อเจ้าแม่มีความหมายในภาษากรีกว่า “ฟอง” ดังนั้น จึงมีความเชื่อกันต่อมาว่า แหล่งกำเนิดของเจ้าแม่น่าจะอยู่ในทะเลแถบเกาะไซเธอรา (Cythera) ต่อจากนั้น เจ้าแม่ก็ถูกคลื่นซัดพาตัวมาจนถึงเกาะไซพรัส (Cyprus) ทำให้เกาะทั้งสองแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับเจ้าแม่ และบางครั้งก็ทำให้เจ้าแม่มีชื่อเรียกอีกสองชื่อตามชื่อเกาะทั้งสองแห่งนี้ว่า ไซเธอเรีย (Cytherea) และ ไซเพรียน (Cyprian)

      จากที่บอกไปแล้วว่า เทวีอโฟรไดท์ถูกคลื่นพัดพาร่างไปติดบนเกาะไซพรัส ซึ่งในขณะนั้นก็มีฤดูเทวืผู้รักษาทวาร แห่งเขาโอลิมปัสช่วยลงมารับพาตัวเจ้าแม่เดินทางขึ้นไปยังเทพสภาเมื่อไปถึงเทพสภา เทพทุกองค์ต่างตกตะลึงใน ความงามของเจ้าแม่เป็นอย่างมาก และทุกองค์ก็ต่างหมายปองอยากได้เจ้าแม่อโฟรไดท์มาเป็นคู่ครอง ไม่เว้นแม้แต่เทพซูส ที่ก็มีความหวังอยากที่จะได้ตัวเจ้าแม่เช่นกัน แต่เนื่องจากเจ้าแม่นั้นไม่ยินดีจะมาเป็นชายาด้วย ทำให้ไท้เธอโปรดประทานเจ้าแม่อโฟรไดท์ให้แก่ฮีฟีสทัส (Hephaestus) ผู้เป็นเทพรูปทรามที่มีรูปร่างไม่สมส่วน และมีบาทแปเป๋ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการบำเหน็จรางวัลที่ฮีฟีสทัสประกอบความดีความชอบในการถวายอสนียบาต และก็ถือเป็นการลงโทษเจ้าแม่ฮีฟีสทัสที่ไม่แยแสในตัวซูสไปด้วยในเวลาเดียวกัน

      แต่อย่างไรก็ตาม เทพองค์แรกที่เจ้าแม่ฮีฟีสทัสร่วมพิศวาสอภิรมย์ด้วย กลับเป็น เทพเอรีส (Ares) หรือ มาร์ส (Mars) ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าแห่งการสงคราม และเป็นเทพบุตรของซูสเทพบดีกับเจ้าแม่ฮีรา โดยทั้งคู่ได้เป็นแอบคบชู้กัน และทำให้เทวีอโฟรไดท์ให้กำเนิดบุตรสององค์กับธิดาหนึ่งองค์ออกมา โดยลูกๆของเทวีอโฟรไดท์มีชื่อว่า ‘อีรอส (Eros) หรือ คิวพิด (Cupid)’ ‘แอนติรอส (Anteros)’ และ ‘เฮอร์ไมโอนี (Hermione) หรือ ฮาร์โมเนีย (Harmonia)’ ตามลำดับ โดยนางเฮอร์ไมโอนีได้แต่งงานกับแคดมัส (Cadmus) ผู้ที่ทำหน้าที่สร้างเมืองธีบส์ขึ้นมา และเขายังเป็นพี่ชายของนางยุโรปา ผู้ที่ถูกซูสลักพาไป ดังที่เคยได้เล่ากล่าวมาแล้วในตอนต้น

      เรื่องราวความรักของเทวีอโฟร์ไดท์ผู้เป็นเทพีแห่งความงามยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ เพราะด้วยความงดงามของเจ้าแม่ ทำให้เธอเที่ยวหว่านเสน่ห์ไปยังเทพหรือมนุษย์ไปทั่ว ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่เทวีอโฟรไดท์ไปมีสัมพัทธ์เสน่หากับเทพเฮอร์มีส จนให้กำเนิดโอรสองค์หนึ่งที่มีชื่อว่า เฮอร์มาโฟร์ดิทัส (Hermahroditus) ออกมา  ส่วนในด้านความสัมพันธ์กับมนุษย์ธรรมดา เทวีอโฟร์ไดก็ยังเคยแอบไปมีสัมพันธ์แนบชิดกับบุรุษเดินดิน ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่เทวีอโฟรไดท์แอบไปชอบพอกับเจ้าชายแอนคิซีส (Anchises) ชาวโทรยัน  จนให้กำเนิดโอรสครึ่งเทพครึ่งมนุษย์ออกมา ให้ให้ชื่อว่า เอนิแอส(Aenias) ซึ่งเขาผู้นี้ถือเป็นต้นตระกูลของชาวโรมันทั้งหมด และเรื่องที่โด่งดังอื้อฉาวมากที่สุด ก็คงจะเป็นเรื่องที่เทวีอโฟรไดท์แอบไปหลงรักกับอโดนิสผู้มีหน้าตาหล่อเหลาแห่งยุค ตามเรื่องราวที่จะเล่าดังต่อไปนี้

      วันหนึ่ง ในขณะที่เจ้าแม่อโฟรไดท์กำลังเล่นหยอกล้ออยู่กับอีรอส ก็บังเอิญถูกศรของอีรอสสะกิดโดนที่อุระ และถึงแม้ว่าอุบัติเหตุครั้งนี้จะทำให้เกิดเป็นแผลเพียงเล็กน้อย แต่ด้วยอำนาจของพิษศรก็มากเพียงพอที่จะทำให้เจ้าแม่เกิดความผิดปกติด้วยอำนาจนี้ได้  และยังไม่ทันที่แผลจะหายดี เจ้าแม่ก็ได้บังเอิญพบกับ อโดนิส (Adonis) ผู้เป็นชายหนุ่มที่ร่อนเร่พเนจรอยู่ในป่า ด้วยอำนาจของศรอีรอสทำให้เจ้าแม่บังเกิดความพิสมัยในตัวของอโดนิส จนห้ามใจไว้ไม่อยู่ เจ้าแม่จึงรีบลงมาจากสวรรค์เพื่อมาตามหาอโดนิส เพื่อหวังที่จะได้ใกล้ชิดสนิทสนมกันไปตลอด ไม่ว่าอโดนิสจะไปทางไหน เจ้าแม่อโฟรไดท์ก็จะติดตามไปด้วยทุกทาง ด้วยความที่เทวีอโฟรไดท์รู้สึกหลงใหลและเป็นห่วงอโดนิสเอามากๆ จนไม่เป็นอันระลึกถึงสถานแห่งหนึ่งแห่งใดที่เคยโปรด ทำให้เทวีอโฟรไดท์เที่ยวติดตามอโดนิสไปในป่าตลอดเวลา แถมยังคอยตักเตือน พะเน้าพะนอเอาใจ และกำชับอโดนิสในการล่าสัตว์ทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เขาเสี่ยงภัยอันตรายมากเกินไป และยังบอกให้หลีกเลี่ยงสัตว์ใหญ่ และให้เขาล่าแต่สัตว์ตัวเล็กๆเท่าที่จะพอล่าได้เท่านั้น แต่ความรักครั้งนี้ของเจ้าแม่ที่มีต่ออโดนิสกลับเป็นความรักเพียงข้างเดียว เพราะเจ้าหนุ่มโดนิสไม่ได้มอบความรักตอบแก่เจ้าแม่เสียเลย ซึ่งคงเป็นเพราะอีรอสไม่ได้แผลงศรรักปักเข้าที่ชายหนุ่มด้วยละมั้ง ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ และด้วยเหตุผลที่อโดนิสไม่ได้รักเทวีอโฟรไดท์ตอบ จึงทำให้เขาไม่แยแสสนใจในคำกำชับตักเตือนของเจ้าแม่เลย และยังคงเที่ยวล่าสัตว์ใหญ่น้อยไปเรื่อยตามความต้องการของตน

      ในวันหนึ่ง ขณะที่เจ้าแม่อโฟรไดท์จำเป็นต้องจากอโดนิสไปเพราะมีธุระ เจ้าแม่จึงทรงหงส์เหินบินเหาะไปในอากาศ ส่วนฝ่ายอโดนิสก็เดินทางไปล่าสัตว์ตามปกติ และได้พบกับหมูป่าแสนดุร้ายตัวหนึ่ง (บางตำนานเล่ากันว่า เทพเอเรสเสกหมูป่าตัวนี้ขึ้นมา เนื่องจากความหึงหวงในตัวของเทวีอโฟรไดท์ที่มีให้ต่ออโดนิส) เขาจึงตามล่าหมูป่าไปจนมันจนมุม ก่อนที่อโดนิสจะซัดหอกไปถูกร่างของหมูป่า แต่โชคร้ายที่หอกไม่ได้ปักเข้าที่ตำแหน่งสำคัญ จึงทำให้หมูป่าได้รับความเจ็บปวดและทวีความโหดร้ายมากขึ้น หมูป่าจึงตรงจึงรี่เข้าขวิดจนอโดนิสถึงแก่ความตายในที่สุด

      เมื่อเจ้าแม่อโฟรไดท์ได้ยินเสียงร้องของอโดนิสขณะที่อยู่กลางอากาศ เจ้าแม่ก็ตัดสินใจชักรถเทียมหงส์กลับทันที เพื่อที่จะลงมายังพื้นปฐพีและรีบตรงปรี่เข้าหาอโดนิสทันที เจ้าแม่ก้มลงจุมพิตอโดนิสที่กำลังจะขาดใจตายด้วยความเจ็บปวด พร้อมทั้งครวญคร่ำรำพึงพันด้วยความรักสุดแสนอาลัย และทึ้งเกศาข้อนทรวงทำอาการต่าง ๆ ตามแบบที่ผู้คลุ้มคลั่งมักทำกัน เจ้าแม่รู้สึกว่าตนเองช่างโชคร้าย และรำพึงรำพันต่อเทวีครองผู้ครองชะตากรรม ว่าเหตุใดจึงต้องพลัดพลาดชายผู้เป็นที่รักของนางไป ความเจ็บช้ำครั้งนี้คล้ายกับการควักเอาดวงเนตรของเจ้าแม่ออกไปก็ไม่ปาน

      หลังจากที่ความโศกเศร้าเริ่มจางหายไปแล้ว เจ้าแม่ก็เอื้อนเอ่นตั้งปณิธานขึ้นมาว่า “ถึงการณ์ดังนั้นก็อย่าคิดเลยว่า ผู้เป็นที่รักของข้าจะต้องอยู่ในยมโลกตลอดกาล หยาดโลหิตของอโดนิสผู้เป็นแก้วตาของข้า จงกลายเป็นบุปผชาติชนิดหนึ่ง เพื่อแสดงถึงความโศกเศร้าของข้า และให้ข้าได้ระลึกถึงเหตุการณ์อันเศร้าสลดครั้งนี้เป็นประจำปีเถิด”  หลังจากเอ่ยปณิธานออกไปดังนั้นแล้ว เจ้าแม่ก็ปะพรมน้ำต้อยเกสรอันศักดิ์สิทธิ์ลงไปบนเม็ดเลือดของอโดนิส และทันใดนั้นเอง ก็ปรากฏเป็นพันธุ์ไม้ที่มีดอกสีแดงดั่งสีทับทิมผุดขึ้นมา และดอกไม้นั้นก็ถูกเรียกชื่อสืบต่อกันมาว่า “ดอกอโดนิส หรือ ดอกเออะเนมโมนิ (Anemone)”  ที่มีความหมายว่า ดอกตามลม (หรือบางตำนานก็ว่าเป็นดอกกุหลาบนั่นเอง) ซึ่งมีเหตุผลมาจากธรรมชาติของลมที่ทำให้ดอกไม้ดอกนี้สามารถแย้มบานได้ และก็จะต้องมีช่วงเวลาที่พัดกลีบให้ร่วงหล่นไป ทำให้มีอายุอยู่ได้เพียงไม่นานแค่ 3-4 เดือนเท่านั้น

      แรกเริ่มเดิมทีก่อนที่เทพีอโฟรไดท์ จะกลายมาเป็นเทวีแห่งความงามและความรัก เจ้าแม่เคยเป็นเทวีแห่งความสมบูรณ์มาก่อน โดยกล่าวกันว่าเมืองที่เคารพเจ้าแม่มากที่สุดมีชื่อว่า เมืองปาฟอสในไซปรัสและเมืองไซธีรา ซึ่งตั้งอยู่ในเกาะครีต นอกจากนั้น ยังมรวิหารที่มีชื่อเสียงด้านความโอ่อ่างดงามที่มากที่สุดซึ่งตั้งอยู่ที่ซีกโลกตะวันออกอันมีชื่อว่า วิหารที่เมืองคนิดุสในรัฐแคเรีย (Caria) ที่วิหารแห่งนี้มีเทวีเอเธน่าเป็นเทพผู้คุ้มครองอยู่บนเนินอโครโปลิส และมีผู้นับถือศรัทธาเดินทางมาสักการะเป็นจำนวนมาก

      จากที่กล่าวไปแล้วว่า อโฟรไดท์เป็นเทวีที่มนุษย์ชาวกรีกและโรมันโบราณให้การนับถือ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์มากที่สุด เนื่องด้วยความรักและความงดงามเป็นสิ่งที่สามารถจับใจคนให้หันมาให้ความสนใจใคร่รู้ได้มากกว่าเรื่องอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้เอง เจ้าแม่เทพีอโฟรไดท์จึงมักจะถูกเทิดทูนบูชา และเป็นที่กล่าวขวัญในศิลปะและวรรณคดีต่าง ๆมากมาย  มากไปกว่านั้น ยังมีความเชื่อชองชาวกรีกและชาวโรมันว่า เจ้าแม่เป็นเทวีผู้มีลูกดกและเป็นเทวีแห่งการให้กำเนิดทารก ทำให้มีคติความเชื่อโบราณประการหนึ่งของชาวตะวันตกที่เล่าขานสืบต่อกันมาปากต่อปากมาจนล่วงเลยมาถึงในปัจจุบันนี้ว่า ทารกถือกำเนิดเพราะนกกระสานำมา และคติความเชื่อนี้ก็สืบเนื่องมาจากข้อยึดถือของมนุษย์ชาวกรีกและ โรมันมาตั้งแต่บรรพกาลเช่นกัน

      นกกระสามีความสำคัญตามเทพนิยาย นิทานชาวบ้าน และนิทานเทียบสุภาษิตต่าง ๆมากมาย โดยในตำนานเทพปกรณัม ได้กล่าวไว้ว่า นกกระสาถือเป็นนกประกอบบารมีของเทวีอโฟรไดท์ หากบ้านใดที่มีนกกระสาผัวเมียไปทำรังอยู่บนยอดหลังคา ก็จะมีความหมายว่า เจ้าแม่อโฟรไดท์เสด็จไปโปรดให้ครอบครัวนั้นๆกำเนิดลูก และยังความรุ่งเรืองมาให้แก่ครอบครัวนั้น ในแถบยุโรปโดยเฉพาะภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ก็มีการให้ความเคารพนกกระสาเช่นกัน ส่วนในประเทศเยอรมันและเนเธอร์แลนด์ ก็ถือว่านกกระสาเป็นตัวแทนของโชคลาภที่จะเข้ามาสู่ตน ดังนั้นชาวเยอรมันและวิลันดาจึงมีความยินดีที่จะให้นกกระสาสามารถบินมาทำรังบนหลังคาบ้านของตนได้เสมอ ยิ่งนกเหล่านั้นอาศัยอยู่นานเพียงใด ก็ยิ่งถือเป็นมงคลให้แก่บ้านหลังนั้นนานมากขึ้น

      ตั้งแต่หลายศตวรรษที่ผ่านมา ชาวยุโรปทั่วๆไปมีความเชื่อสืบทอดกันมาว่า เมื่อบ้านหนึ่งบ้านใดที่กำลังจะให้กำเนิดเด็กแรกเกิด เจ้าแม่อโฟรไดท์จะสั่งให้นกกระสามาบินวนเวียนอยู่เหนือหลังคาบ้านนั้น ซึ่งคติความเชื่อนี้ก็ถูกตีความกันต่อไปว่า หากนกกระสาได้มาบินวนเวียนเหนือบ้านที่กำลังจะมีเด็กเกิด เด็กคนนั้นจะสามารถคลอดออกจากครรภ์มารดาได้โดยง่าย และสามารถอยู่รอดปลอดภัยด้วย แต่ความจริงแล้ว คติความเชื่อนี้ก็เป็นเพียงข้ออ้างที่พ่อแม่ใช้ในการตอบคำถามลูกๆตอนโต  ว่าน้องเล็กของตนนั้นเกิดมาได้อย่างไร หรือเกิดมาจากอะไรเพียงเท่านั้น

      เทวีอโฟร์ไดท์มีพฤกษาประจำองค์เป็นต้นเมอร์เทิล มีสัตว์เลี้ยงประจำองค์เป็นนก ซึ่งบ้างก็ว่าเป็นนกเขา ในขณะที่บ้างก็ว่าเป็นนกกระจอก หรือหงส์ ตามแต่ที่กวีจะจินตนาการอยากให้เป็น

ที่มา  http://www.tumnandd.com/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B9%82%E0%B8%9F%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B9%8C-aphrodite-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD-venus/

Cupid เทพแห่งความรัก

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Cupid เทพแห่งความรัก

      จากที่กล่าวมาก่อนแล้วว่า เทวีอโฟร์ไดท์มีบุตรธิดากับเทพเอเรสถึง 3 องค์ โดยนางเฮอร์โมไอนีได้อภิเษกสมรสกับแคดมัสผู้เป็นเจ้าเมืองธีบส์ ส่วนคิวพิดก็เป็นกามเทพของชาวโรมัน หรือที่ชาวกรีกเรียกว่า อีรอส  แต่อีรอสหรือคิวพิดที่เป็นบุตรของอโฟร์ไดท์กับเอเรสนี้ ถือเป็นคนละองค์กับอีรอสที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งสร้างโลก ดังนั้น หากเป็นอีรอสที่กล่าวถึงโดยทั่ว ๆไป ก็มักจะหมายความถึงอีรอสที่เป็นบุตรของอโฟร์ไดท์กับเอเรสองค์นี้เกือบจะตลอด

      อีรอส ถือเป็นเทพบุตรรูปงามที่สุดองค์หนึ่งในบรรดาเทพทั้งหลายไม่แตกต่างจากเทพอพอลโลเสียเท่าไร   ปรัชญาเมธีเพลโตได้กล่าวเปรียบเปรยเกี่ยวกับเทพองค์นี้ไว้ว่า แม้ว่า “กามเทพอีรอส” จะเข้าไปในหัวใจของคนได้ก็จริง แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปในทุกหัวใจของคนได้ เนื่องด้วยเหตุผลที่ว่าด้วยความแข็งกระด้างเธอที่ทำให้เกียรติคุณอันดีงามของเธอหายไป เธอจะไม่ยอมให้ผู้ใดทำผิด และแม้จะใช้กำลังบังคับก็ไม่สามารถจะล้มเธอลงได้

      นักกวีชาวกรีกในอดีตไม่ได้แต่งตำนานของเทพอีรอสผู้นี้ขึ้นมา แต่ตำนานดังกล่าวถูกกวีฮีสิออดเป็นผู้แต่งขึ้นมาให้ แต่ก็พบว่าไม่ใช่อีรอสที่เป็นโอรสของเทวีอโฟร์ไดท์เลย แต่เป็นเพียงแค่เพื่อนกันเท่านั้น ดังนั้น ตำนานของเทพอีรอสจึงมีนักกวีชาวโรมันที่เป็นผู้แต่งเรื่องราวขึ้นมา และทำให้พบว่ามีเพียงเฉพาะตำนานของโรมันเท่านั้นที่มีการกล่าวถึงเรื่องราวของเทพอีรอสองค์นี้

ตำนานมักพูกไปในทางเดียวกันว่า เทพอีรอสเป็นเทพที่ติดมารดามากที่สุด หากพบเทวีอโฟร์ไดท์อยู่ที่ใด ก็มักจะพบอีรอสปรากฏตัวอยู่ที่แห่งนั้นด้วย ซึ่เปรียบเสมือนการคู่กันของความงามและกามวิสัยนั่นเอง โดยอีรอส เปรียบเสมือนลูกศรแห่งกามฉันท์รวมกันกับคันธนูน้อยที่เป็นอาวุธ ซึ่งมีไว้สำหรับยิงปักหัวใจของเทพและมนุษย์ทั้งหลายให้ต่างมีความปรารถนาอันเร่าร้อนไปด้วยความรักพิศวาส โดยจะเห็นได้ว่าชั้นเดิมของอีรอสจะเป็นเด็กวัยเยาว์อยู่เสมอ และไม่มีทางได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่เลย ดังนั้น อีรอสจึงต้องมีเพื่อนเล่นและบริวารเป็นเทพองค์น้อยอีกองค์ ที่มีชื่อเรียกกันว่า “แอนทีรอส”

ตำนานการกำเนิดของแอนทีรอส มีเรื่องเล่าไว้ดังต่อไปนี้

      เมื่อเห็นว่าอีรอสไม่มีท่าทีที่จะเจริญวัยมากขึ้นเสียที อโฟรไดท์จึงกล่าวปรารภกับธีมิสผู้เป็นเทวีแห่งความยุติธรรมว่า เธอจะต้องเลี้ยงดูบุตรอีรอสของเธออย่างไร จึงจะทำให้อีรอสเจริญเติบโตมากขึ้นได้ ธีมิสจุงได้ชี้แจงไปว่า เหตุผลที่อีรอสไม่โตไปกว่านี้ ก็เพราะอีรอสขาดเพื่อนเล่นแก้เหงา หากนางสามารถมีน้องให้แก่อีรอสสักองค์หนึ่ง อีรอสก็คงจะโตขึ้นได้อีกมาก และต่อจากนั้นในไม่ช้าแอนทีรอสก็บังเกิดขึ้น ทำให้อีรอสเจริญเติบโตแข็งแรงขึ้นอย่างรวดเร็วผิดจากแต่เดิมเป็นอย่างมาก (อย่างไรก็ตาม เราจะยังคงเห็นว่าคิวพิดหรืออีรอสที่เป็นภาพเขียนหรือแกะสลักก็ยังปรากฎตัวในรูปที่เป็นเด็กเสียมากกว่า) ซึ่งนอกจากแอนทีรอสจะมีหน้าที่เป็นเพื่อนเล่นของอีรอสแล้ว แอนทีรอสยังถือเป็นเทพบันดาลให้เกิดมีการรักตอบด้วย

      เรื่องต่อไปนี้จะเล่าถึงความสัมพันธ์ของอีรอสกับนางไซคิ ซึ่งถือเป็นเรื่องราวที่แพร่หลายและเป็นที่รู้จักมากที่สุดเรื่องหนึ่งในเรื่องเล่าเกี่ยวกับเทพปกรณัมกรีกโรมัน เรื่องที่ว่านี้เป็นเรื่องเล่าที่แสนจับใจและให้มุมมองแง่คิดหลายประการตามแต่ที่ท่านผู้อ่านผู้ฟังจะคิดเห็นตามวิจารณญาณ เรื่องราวนนี้เป็นเรื่องความรักของเทพอีรอสเอง ซึ่งเขาถือเป็นผู้มีอำนาจในการบันดาลความรักให้เกิดขึ้นกับใครก็ได้ ส่วนนางไซคิ (Psyche) ซึ่งเป็นตัวเอกอีกตัวหนึ่งของเรื่อง ก็บังเอิญเป็นคำคำเดียวกันกับคำที่มีความหมายว่า จิตใจหรือดวงวิญญาณ ทำให้อาจกล่าวได้ว่า เทพปกรณัมกรีกอุปโลกน์สร้างนางไซคิขึ้นมา เพื่อหวังที่จะใช้ให้เป็นลักษณะของดวงวิญญาณก็เป็นได้ เรื่องเล่าในปกรณัมนั้นกล่าวไว้ดังนี้ว่า

      กาลครั้งหนึ่งในกรีก มีกษัตริย์องค์หนึ่งมีธิดา 3 องค์ ซึ่งธิดาทุกองค์ล้วนมีสิริโฉมงดงาม แต่จะพบว่าแม้จะนำความงามของ 2 องค์พี่รวมกัน ก็ไม่ทัดเทียมเท่ากับความงามของธิดาองค์สุดท้องนี้ได้ ธิดาองค์สุดท้องนี้ทรงมีชื่อว่า ไซคิ ผู้มีความงามมากที่สุด และเป็นที่ลือเลื่องไปทั่วทุกถิ่น ใครต่อใครก็ต่างพากันยกย่องเทิดทูนเพราะความงาม จนลืมที่จะบูชาเทวีอโฟร์ไดท์ผู้เป็นเจ้าแม่แห่งความงามไปสิ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ศาลของเจ้าแม่อโฟร์ไดท์เงียบเหงา ว่างเปล่า และวังเวง เจ้าแม่เองก็ว่างเปล่าเพราะไม่มีผู้ใดจะเข้าไปบวงสรวงได้ แม้แต่แขกบ้านแขกเมืองจากต่างถิ่นก็พากันเดินทางไปศาลเจ้าแม่ไซคิ เพื่อชื่นชมความงามของเจ้าแม่กันเสียหมด และเพราะเหตุผลนี้เองที่ทำให้เจ้าแม่อโฟร์ไดท์รู้สึกรังเกียจริษยาในตัวของเจ้าแม่ไซคิเป็นอย่างยิ่ง และคิดหวังจะกลั่นแกล้งให้นางไซคิตกต่ำ ด้วยความอัปยศ คนทั้งปวงจะได้ไม่ต้องไปยกย่องบูชาถึงนางต่อไปอีก ว่าแล้ว เจ้าแม่ก็เรียกอีรอสเทพบุตรมาสั่งถึงความประสงค์ให้บุตรรับทราบ และสั่งให้อีรอสไปหลอกล่อให้นางไซคิแอบหลงรักสัตว์อุบาทว์สักคนหนึ่ง อีรอสก็ทำตามที่เจ้าแม่สั่งเป็นอย่างดี แต่ผลลัพธ์ที่ปรากฏต่อมาในภายหลังกลับพบว่า “สัตว์อุบาทว์ทรลักษณ์” ที่นางไซคิจะต้องหลงรัก ก็ไม่ใช่ใครอื่นใดแต่เป็นน อีรอส นั่นเอง !

      อุทยานของเจ้าแม่อโฟร์ไดท์ปรากฎมีน้ำพุอยู่ 2 แหล่ง แอ่งที่หนึ่งเป็นน้ำพุงน้ำหวาน ส่วนแอ่งที่สองเป็นน้ำพุน้ำขม น้ำพุหวานเป็นน้ำที่ใช้เพื่อสร้างความสดชื่นและเบิกบาน ในขณะที่น้ำขมใช้เพื่อสร้างความขมขื่นรือทุกข์ระทมในจิตใจ เมื่อครั้งแรก อีรอสได้ใช้กุมโฑตักน้ำจากน้ำพุทั้งสองชนิดละใบ จากนั้นได้นำไปยังห้องที่ไซคิที่กำลังหลับอยู่ ล้วอีรอสก็แอบนำเอาน้ำขมในกุณโฑรดประพรมไปที่ลงโอษฐ์ของไซคิ แล้วนำเอาปลายศรบันดาลความพิศวาสสะกิดสีข้างของนางในทันทีทันใด ทำให้ไซคิสะดุ้งตัวตื่นขึ้นมา ถึงแม้ว่าอีรอสจะไม่ได้เผยกายให้นางได้เห็น แต่ด้วยความลืมตัว ทำให้เธอเผลอทำศรสะกิดไปด้วยองค์ของเธอเองด้วยเหตุเพราะตกใจ ทำให้เธอเกิดตกหลุมรักนางไซคิเนื่อด้วยพลังของศรตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จากนั้นเธอเอาเอาน้ำพุหวานมารดลงบนเรือนผมของไซคิ ก่อนที่จะโผบินจากไปจากที่นั้น

      เมื่อเวลาผ่านพ้นไป ก็ยิ่งทำให้ไซคิรู้สึกเศร้า เหงา และเปล่าเปลี่ยวใจที่ไม่มีผู้ใดจะมาขอวิวาห์ด้วย ทุกสายตายังคงตะลึงในรูปโฉมที่งดงามของนางอยู่ และยังมีถ้อยคำยกย่องสรรเสริญนางยังอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีใครที่คิดจะเข้ามาสู่ขอนางไปเป็นคู่ชีวิต เพราะค่างก็พากันเกรงกลัวในตัวนาง เหตุการณ์นี้ทำให้นางสุดจะทน ในขณะที่ พี่สาวทั้งสองของนางก็ได้แต่งงานมีครอบครัวไปกับเจ้ากรีกต่างนครไปแล้ว ส่วนตัวนางไซคิเองนั้นยังคงโดดเดี่ยว เปลี่ยวใจอยู้เพียงผู้เดียว เวลาล่วงเลยต่อไปอีกไม่นาน บิดามารดาของนางก็เกิดอาการวิตกจริตเกรงว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนี้คงน่าจะต้องอะไรบางอย่างที่บกพร่องไปแน่ หรืออาจเป็นเพราะตนเองได้กระทำสิ่งใดลงไปโดยขาดความคิด รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ ทำให้เทพเจ้าลงโทษให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ ทำให้ท้าวเธอตัดสินใจที่จะบวงสรวงเสี่ยงทายพยากรณ์ต่อเทพอพอลโล และเขาก็ได้รับคำพยากรณ์กลับมาว่า คู่ครองของนางหาใช่มนุษย์ปุถุชนธรรมดาไม่ แต่คู่ครองของนางในภายหน้านี้กำลังรอคอยนางอยู่บนยอดแห่งขุนเขาต่างหาก เขาผู้นี้เป็นอมนุษย์ที่ไม่มีมนุษย์หรือเทพองค์ใดจะสามารถขัดขืนหรือต้านทานกำลังได้เลย

      หลังจากทราบคำพยากรณ์ก็ทำให้คนทั้งหลายและบิดามารดาของนางไซคิเกิดความโศกเศร้าเป็นอย่างมาด สุดที่จะหาอะไรมาเทียบได้ แต่ตัวนางเองก๋ไม่ย่อท้อ และเห็นว่าชะตากรรมกำหนดไว้แล้วว่าชีวิตของนางต้องเป็นเช่นนี้ นางก็จะต้องยอมรับโดยดี จากนั้นก็ให้บิดามารดาของนางจัดเตรียมสิ่งของเพื่อส่งนางขึ้นไปบนยอดเขาเพื่อหาเนื้อคู่ ซึ่งประกอบไปด้วยขบวนแห่แหนอย่างยิ่งใหญ่ ฝูงชนที่เดินตามขบวนแห่แหนนี้ล้วนมีใบหน้าที่เศร้าหมอง ห่อเหี่ยว อาลัย และครั้นเมื่อทั้งหมดขึ้นไปถึงบนยอดเขาแล้ว ทุกคนก็ต่างพากันกลับเหลือแต่เพียงนางไซคิอยู่เพียงผู้เดียว พร้อมด้วยดวงใจที่ละห้อยละเหี่ยมายิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

      นางไซคิยืนสะอื้นด้วยความว้าเหว่และเต็มไปด้วยความโศกเศร้าแต่เพียงลำพังอยู่บนชะง่อนหินแห่งหนึ่งบนยอดเขาลูกนั้น ทันไดนั้นเอง เทพเสฟไฟรัสผู้เป็นเจ้าแห่งลมตะวันตกก็ได้บรรจงโอบอุ้มร่างของไซคิขึ้นจากยอดเขา และหอบหิ้วนางร่องลอยมา ณ สถานแห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยพืชพรรณที่มีสีเขียวขจีห้อมล้อมตัวนางไปหมด รุกขพฤกษานานาพรรณจากหลายหลากชาติล้วนดูร่มรื่น ซึ่งเมื่อนางไซคีพยายามเหลียวมองรอบกาย ก็พบเห็นสถานที่แห่งหนึ่งที่ประกอบไปด้วยซุ้มไม้ที่ดูแปลกพิกล ด้วยความสงสัย นางจึงเดินเข้าไปในที่แห่งนั้น และได้พบเห็นธารน้ำพุใสที่ไหลรินดังธารของแก้วผลึก เมื่อเดินต่อไปก็ได้พบกับพระตำหนักแห่งหนึ่งที่ตั้งสูงตระหง่านอยูในที่แห่งนั้น นางไซคิรู้สึกมีกำลังใจเบิกบานและมีความอาจหาญมากขึ้น นางจึงได้เดินเข้าไปในพระตำหนักแห่งนั้น สิ่งที่นางพบเห็นในตำหนักล้วนทำให้นางเกิดความแปลกประหลาดใจ เพราะทัศนาภาพล้วนอันวิจิตร ยากที่จะหาที่ใดในโลกมนุษย์เปรียบได้ แต่นอกจากความสวยงามตระการตาแล้วก็หามีสิ่งมีชีวิตใดๆ ปรากฏอยู่ ณ ที่แห่งนั้นเลย

      ในขณะที่กำลังชมภาพความงามทั้งมวลทั้งมวลภายในตำหนักแห่งนั้นอยู่ นางไซคิก็เกิดได้ยินเสียงบางเสียงที่กำลังพูดอยู่กับนางไม่ห่างออกไป แต่นางไม่เห็นตัวผู้พูด เสียงนั้นบอกว่า “ข้าแต่นางนาฏผู้เป็นใหญ่ สิ่งทั้งปวงที่กำลังปรากฏแก่สายตาของท่านในที่นี้ล้วนเป็นสมบัติของท่านทั้งหมด พวกเราเจ้าของเสียงนี้ก็คือบริวารของท่าน ผู้ที่จะคอยปฏิบัติรับใช้ท่านตามคำสั่งทุกประการ ของให้ท่านจงวางใจในตัวพวกเราเถิด พวกเราจัดแจงหาห้องบรรทม และจัดการกระยาหารพร้อมสรรพด้วยรสชาติอันน่าพึงใจไว้แก่ท่านอย่างพร้อมเพรียงแล้ว ขอให้ท่านจงใช้ชีวิตตามอัธยาศัยเถิด” เมื่อสิ้นเสียงนั้น นางไซคิก็ปฏิบัติตามคำเชื้อเชิญและรอคอยที่จะพบกับ “อมนุษย์” ที่จะมาครองคู่กับนาง ระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่บนนั้น นางไซคีได้ยินเสียงดนตรีทิพย์ที่บรรเลงขับกล่อมเป็นที่ไพเราะเพราะพริ้งเป็นอย่างยิ่ง แต่ “อมนุษย์” ผู้เคียงคู่นางก็ไม่อาจปรากฎตัวในเวลากลางวันได้ แต่หากเป็นเวลาใรยามราตรีที่มืดมิด อมนุษย์ผู้นั้นจึงจะมาหาและจะจากไปเมื่อใกล้รุ่ง นางไซคิไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าคู่ครองของนางมีรูปร่างหน้าตาเป็นย่างไร นางได้ยินแต่เพียงคำหวานที่อมนุษย์ผู้นั้นพร่ำพรอด ซึ่งก็สามารถจูงใจนางให้รู้สึกเคลิบเคลิ้มและรู้สึกถึงความเสน่หาไปได้

      ตลอดเวลาที่นางไซคิครองรักอยู่กับอีรอสเป็นเวลาแรมเดือน นางไม่อาจรับรู้ได้เลยว่าคู่ครองของนางคือใคร แม้ว่านางจะอ้อนวอนให้เขาบอกว่าตนเองเป็นใครสักเท่าใด อีรอสก็ยังไม่ยอม ยิ่งกว่านั้นยังสั่งห้ามให้นางไซคีจุดไฟในยามราตรีหรือพยายามถามถึงชื่อของเธออีกเป็นอันขาด โดยได้ให้เหตุผลไว้ว่า “เหตุใดเจ้าจึงต้องการเห็นข้า หรือว่าเจ้ายังคงสงสัยในความรักของข้าอยู่หรือไม่ หากวันใดที่เจ้าแลเห็นรูปร่างหน้าตาของข้า เจ้าอาจหมดความเทิดทูนหรือเกรงกลัวในรูปของข้าก็เป็นได้ ข้าเพียงอยากให้เจ้ารู้สึกรักใคร่ในตัวข้าในฐานะที่เป็นปุถุชนคนธรรมดาที่เสมอกัน ไม่อยากให้เจ้ารู้สึกเทิดทูนข้าในฐานะที่เป็นเทพที่สูงกว่าหรอกนะ” ด้วยคำพูดที่ว่ามานี้ทำให้นางไซคิต้องยอมจำนนต่อเหตุผลของอีรอส ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นางไซคีจึงไม่เซ้าซี้สอบถามความจากคู่ครองของนางอีกต่อไป

      เวลาผ่าไป นางไซคีรู้สึกคิดถึงวงศาคนาญาติของนาง นางไซคิจึงขออนุญาตต่ออีรอสเพื่อเชื้อเชิญพี่สาวของนางได้มาเที่ยวชมในที่ตำหนักแห่งนี้ แม้ว่าอีรอสจะบ่ายเบี่ยงในครั้งแรก แต่ก็อนุญาตในที่สุด ทำให้พี่สาวทั้งสองของนางได้มีโอกาสขึ้นมาบนสถานที่แห่งนี้ได้ ครั้นมาพี่สาวทั้งสองขึ้นมาถึง ณ ยอดเขา ก็มีลมเสฟไฟรัสมาคอยพัดโบกโอบอุ้มสองนางนั้นให้เลื่อนลอยไปถคงยังตำหนักของไซคิ ซึ่งทำให้นางทั้งสองตกตะลึงในความวิจิตรงดงามเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อน้องสาวได้พาทั้งคู่เข้าไปในตำหนัก ก็ยิ่งเพิ่มความพิศวงในความงามอันแสนวิจิตรตระการตาของการตกแต่งภายในตำหนักมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อพวกเขาได้เจอกัน พี่สาวก็รีบถามเอาความจากนางไซคีว่าน้องสาวของตนอยู่กับอมนุษย์ผู้นี้ได้อย่างไร พร้อมได้รับรู้ว่าทั้งข้าทาสบริวารของน้องสาวในสถานที่แห่งนี้ก็มีเพียงแต่เสียง ไม่เคยเห็นตัว ซ้ำกว่านั้นคู่ครองของนางก็ไม่เคยปรากฎโฉมหน้าหรือบอกชื่อให้นางรับรู้เลย ทำให้สองนางพี่น้องพยายามยุยงน้องสาวถึงวิธีในการแอบลักลอบดูตัวคู่ครองของนาง เพราะหากรู้ว่าเป็นอมนุษย์ที่ทรลักษณ์จริงๆ จะได้ลงมือจัดการฆ่าเสีย

      ไซคิจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำเสี้ยมสอนของพี่สาวอย่างเสียมิได้ โดยนางได้จัดแจงหาตะเกียงและมีดดาบแอบซ่อนไว้ไม่ให้อีรอสเห็น ครั้งเมื่ออีรอสหลับสนิทแล้ว นางจึงแอบจุดตะเกียงเพื่อลุกขึ้นส่องดูสามี แต่ภาพที่นางไซคิเห็นก็ทำให้นางรู้สำนึกถึงความผิดที่นางได้กระทำโดยล่วงละเมิดคำสั่งของสามีไปเสียแล้ว เนื่องจากภาพที่ปรากฎอยู่ตรงหน้านางหาใช่อมนุษย์ไม่ แต่กลับเป็นองค์เทพที่สง่างามหาที่เปรียบมิได้ แลที่ปฤษฎางค์ของอังสาก็มีปีกติดอยู่ทั้งสองข้าง ทำให้นางรับรู้ได้ในทันทีว่าสามีของนางคือ อีรอส

      ขณะที่นางกำลังถือตะเกียงและเขยิบเข้าไปดูหน้าสามีอยู่ใกล้ๆอย่างเพลินตานั้น บังเอิญว่าน้ำมันตะเกียงได้หยดลงบนผิวของอีรอส ทำให้อีรอสสะดุ้งตื่นขึ้นมาจากนิทราในทันที เมื่ออีรอสเห็นเหตุการณ์ดังนั้น ก็กางปีกออกโผบินไปทางช่องแกลในทันใด แม้ว่านางไซคิจะพยายามโผติดตามไปแต่ก็กลับตกลงกับพื้น เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้อีรอสรู้สึกโกรธนางไซคิเป็นอย่างมาก ถึงกับออกปากว่า “ดูก่อนไซคิผู้โฉดเขลา เจ้าตอบแทนความรักที่ข้าให้ไปได้เพียงนี้เชียวหรือ เจ้าจงกลับไปหาพี่สาวทั้งสองของเจ้าที่เป็นผู้เสี้ยมสอนเช่นนี้เถิด ข้าจะลงโทษเจ้าโดยการลาจากเจ้าไปตลอดกาลนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ความรักของเราคงดำรงอยู่ไม่ได้หรอก หากเจ้าปราศจากความไว้วางใจที่มีให้ต่อกัน” ว่าแล้วอีรอสก็บินหายลับไปในอากาศ เมื่อนางไซคิคืนสติและเหลียวรอบกายก็พบว่าว่าทั้งตำหนักและอุทยานได้อันตรธานหายไปแล้ว หลงเหลือแต่นางที่กำลังยืนเดียวดายอยู่เพียงลำพัง พร้อมความทุกข์ระทม ว้าเหว่ที่เต็มจิตใจ จากนั้น ไซคิก็เดินทางออกจากที่นั่นเพื่อกลับไปหาพี่สาวทั้งสอง นางได้เล่าเหตุที่เกิดทั้งหมดให้แก่พี่สาวทั้งสองฟัง ซึ่งพี่ทั้งสองก็แกล้งทำเป็นเศร้าสลดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ความจริงแล้วรู้สึกลิงโลดที่น้องสาวของตนตกสวรรค์เป็นอย่างมาก พี่สาวทั้งสองคบคิดกันเพื่อจะกลับไปยังสถานที่แห่งนั้นอีก เพราะคิดว่าอีรอสอาจจะเลือกนางคนใดคนหนึ่งในสองพี่น้องเพื่อแทนที่นางไซคิ นางทั้งคู่จึงพากันขึ้นไปบนยอดเขาแห่งนั้นอีกครั้ง พร้อมกับเรียกให้ลมเสฟไฟรัสมารับตัวลงไป แต่เมื่อลงไม่ได้รับคำสั่งจากอีรอส จึงไม่ยอมมารับตัวพวกเขาเหมือนดั่งแต่ก่อน และนางแต่ละคนโผตัวออกจากยอดเขาเพราะคิดว่าลมเสฟไฟรัสมาคอยรับตัวนางไปแล้ว ก็ทำให้นางทั้งคู่พลัดตกจากเขาและตายไปในทันที

      ส่วนนางไซคิก็ออกพเนจรเพื่อเที่ยวตามหาสามีไปในสถานที่ต่างๆ เมื่อนางพบใครก็จะสืบถามดะไปเสียหมดว่าพบเห็นสามีของนางหรือไม่ เช่นครั้งหนึ่งที่นางได้พบแพนผู้เป็นเทพบุตรขาแพะ แต่เทพองค์นี้ก็ช่วยอะไรไม่ได้ นอกเสียจากคอยรับฟังเรื่องราวและกล่าวปลอบใจนางเท่านั้น จนวันหนึ่ง ในขณะที่นางเดินทางมาถึงศาลเจ้าแม่ดีมิเตอร์ เทวีผู้ครองการเก็บเกี่ยว นางเห็นว่าเคียว ข้าวโพด และเครื่องมืออื่นๆ ของเจ้าแม่ วางสุมกันอยู่อย่างเกะกะไม่เป็นระเบียบ นางจึงคิดอยากจะช่วยจัดข้าวของเสียใหม่ให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น เมื่อเจ้าแม่ดีมีเตอร์รับรู้ ก็บังเกิดความสมเพชสงสารในตัวนางไซคิที่ต้องมาอาภัพในความรักของนางเป็นอย่างยิ่ง เจ้าแม่จึงแนะนำให้นางไซคิเดินทางไปที่ศาลเจ้าแม่อโฟร์ไดท์ เพื่อจะได้บวงสรวงอ้อนวอนขอความเห็นใจจากเจ้าแม่ดูสักครั้งหนึ่ง

      แต่ว่าเจ้าแม่อโฟร์ไดท์ก็ยังไม่หายเคืองแค้นต่อนางไซคิ และบริภาษเปรียบเปรยว่าว่ากล่าวนางต่างๆนานา จนทำให้นางรู้สึกช้ำใจ มิหนำซ้ำยังสั่งให้นางทำการอย่างหนึ่งซึ่งยากเหนือกว่าที่มนุษย์ธรรมดาจะทำได้ นั่นก็คือ ให้นางแยกเอาเมล็ดพืชนานาชนิดที่ปะปนกันอยู่ในยุ้งฉาง เพื่อจำแนกออกจากกันเป็นพวกๆ และสั่งให้ทำให้เสร็จก่อนค่ำเพื่อเก็บเอาไว้ให้นกพิราบของเจ้าแม่ได้กิน หากนางสามารถทำได้สำเร็จ เจ้าแม่ก็จยกโทษครั้งนี้ให้

นางไซคินั่งมองดูธัญชาติด้วยความท้อถอยและสิ้นความคิดว่าควรจพทำประการใด แต่ทันใดนั้นเอง ก็มีฝูงมดฝูงหนึ่งออกมาช่วยกันขนเมล็ดข้าวนานาชนิดเพื่อแยกกองเอาไว้เป็นพวกๆ ซึ่งมดฝูงนั้นก็มาตามคำสั่งของเทพอีรอสนั่นเอง ทำให้งานครั้งนี้สามารถสำเร็จได้ภายในเวลาที่กำหนด และเมื่อเจ้าแม่ลงมาจากเขาโอลิมปัสและเห็นว่างานครั้งนี้สำเร็จเรียบร้อย ก็มิได้ทำตามที่พูดไว้ก่อนหน้านี้ แต่นางกลับบอกว่าที่นางไซคิทำสำเร็จได้คงไม่ใช่ด้วยฝีมือของตนเองเพียงคนเดียวเป็นแน่ และรู้ว่าวผู้ที่มาช่วยนางคงมิใช่ใครอื่นนอกเสียจากอีรอสเพียงผู้เดียว ทำให้เจ้าแม่ยังไม่ยอมยกโทษให้ และใช้ให้นางทำการอีกอย่างหนึ่งแทน

      คราวนี้ เจ้าแม่อโฟร์ไดท์สั่งให้นางไซคิข้ามแม่น้ำสายหนึ่งเพื่อไปถอนขนแกะซึ่งไม่มีเจ้าของ ที่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำเพื่อนำมาถวายเจ้าแม่ ฝูงแกะเหล่านั้นล้วนมีขนเป็นทองคำซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าแม่พึงประสงค์เป็นอย่างมากที่สุด โดยนางไซคิจำเป็นต้องถอนขนแกะทุกตัวมาถวายให้จงได้ หลังจากรับคำสั่ง นางไซคิก็เดินทางไปถึงริมฝั่งแม่น้ำตั้งแต่ตอนเช้าตรู่ และได้ทำต้นอ้อริมฝั่งแม่น้ำเพื่อหน่วงกายนางเอาไว้ นางไซคิได้รับการช่วยเหลือจากเทพประจำแม่น้ำโดยแอบบอกความลับถึงวิธีที่ปลอดภัยที่จะไปนำเอาขนแกะทองคำมาให้ได้ ความลับที่ว่านี้มีอยู่ว่า ตั้งแต่ช่วงเวลาเช้าถึงเที่ยง แม่น้ำจะมีอันตรายเป็นอย่างมาก และฝูงแกะเหล่านั้นก็ดุร้ายเช่นกัน ถึงแม้นางจะสามารถข้ามแม่น้ำไปยังฝั่งตรงข้ามได้สำเร็จ ก็คงไม่วายถูกฝูงแกะเข้าทำลายจนเสียชีวิตเป็นแน่ แต่นางไซคิก็ไม่หมดความพยายาม เมื่อล่วงเลยเวลาเที่ยงไปแล้ว ทั้งฝูงแกะและแม่น้ำก็ดูสงบนิ่งมากขึ้น นางจึงค่อยๆข้ามแม่น้ำไป เมื่อนางข้ามไปถึงก็จะพบขนแกะทองคำที่ติดอยู่ตามพุ่มไม้ ให้นางเที่ยวเก็บเอาขนแกะทองคำเหล่านั้นจากสุมทุมพุ่มไม้ เถิด นางไซคิทำตามคำแนะนำของต้นอ้อทุกประการ ทำให้นางสามารถหอบเอาขนแกะทองคำจำนวนมาก มาถวายแก่เจ้าแม่อโฟร์ไดท์ได้สำเร็จ ทำให้เจ้าแม่ไม่สมหวังในการที่จะประทุษร้ายนางไซคิในครั้งนี้ เจ้าแม่จึงวางแผนต่อไปเพื่อหวังจะแกล้งหลอกใช้นางเพื่อทำธุระเป็นครั้งที่สาม

      งานชิ้นที่สามที่เทวีอโฟร์ไดท์สั่งให้นางไซคิทำ ก็คือ ให้นางไปนำโถใบหนึ่งจากในยมโลกมาให่ได้ โดยนางต้องไปเฝ้าเพอร์เซโฟนีเทวีเพื่อทูลขอเครื่องประกอบความงามของเจ้าแม่ ก่อนจะให้บรรจุกลับมาในโถใบนี้ และที่สำคัญต้องนำกลับมาให้แก่ตนทันก่อนพลบค่ำวันนี้ คราวนี้นางไซคิเห็นว่านางคงต้องถึงแก่ความตายเป็นแน่ และคงหนีไม่พ้นเงื้อมือมัจจุราชอย่างแน่นอน แต่นางก็คิดในอีกแง่หนึ่งว่า คงจะดีเหมือนกันที่จะทำให้เรื่องราวทั้งหมดยุติลงเสียที และพยายามดั้นด้นเดินทางลงไปสู่ยมโลกที่มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถทำได้ ว่าแล้ว นางจึงขึ้นไปบนยอดหอคอยสูง เพื่อหมายจะกระโดดลงมาให้ตายแบบทรมานน้อยที่สุด แต่แล้วในบัดดล นางก็พลันได้ยินเสียงหนึ่งในหอคอยที่ลอยมากระทบหูนางเข้า คำพูดที่ว่านี้เป็นคำปลอบใจและคำบอกเล่าเพื่อบอกทางการเดินทางลงสู่ยมโลกโดยลัดเลาะไปตามถ้ำ จากนั้นให้ลงเรือจ้างของเครอนเพื่อข้ามแม่น้ำที่คั่นตรุที่ประทับของเทพฮาเดสเอาไว้ และยังบอกวิธีในการหลีกเลี่ยงเซอร์บิรัสหรือสุนัขสามหัวไม่ให้นางถูกทำร้ายด้วย อีกทั้งยังกำชับว่าระหว่างที่ยังอยู่ในยมโลก นางจะต้องห้ามกินผลไม้ใดๆเป็นอันขาด หากจะทานก็ทานได้แต่อาหารที่ทำจากแป้งเท่านั้น และหากเพอร์เซโฟนีเทวีได้มอบโถให้แก่นางแล้ว ห้ามนางเปิดดูโถนั้นเป็นอันขาด ซึ่งนางไซคิก็ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเสียงลึกลับนั้นอย่างเคร่งครัดทุกประการ เว้นแต่ข้อความสุดท้ายที่นางไม่สามารถทำได้ เพราะนางไซคิคิดว่าในโถใบนั้นคงจะบรรจุเอาความงามเอาไว้ หากนางเปิดโถออกดูก็คงจะทำให้ความงามพลุ่งขึ้นมาเสริมให้ตัวนางมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นด้วยความอยากรู้อยากเห็น จนลืมเสียงกำชับปริศนา ทำให้นางเปิดโถออกดู และทันใดนั้นเองนางก็ล้มสลบแน่นิ่งไปตลอดชีวิต เพราะสิ่งที่บรรจุอยู่ในโถมิใช่ความงามแต่ประการใด แต่เป็นความหลับในยมโลกที่ทำให้นางต้องสูญสิ้นชีวิตตลอดไป

      ฝ่ายอีรอสซึ่งยังคงอยู่ในอำนาจพิษศรกามของตัวเองและหายโกรธในตัวนางไซคิแล้ว ก็รับรู้ว่านางไซคิกำลังประสบเคราะห์กรรมอยู่ และไม่สามารถเดินทางออกจากบาดาลได้ เพราะเผลอเปิดเอาความหลับออกดู อีรอสจึงเก็บเอาความหลับกลับคืนใส่โถ แล้วใช้เอาปลายศรสะกิดเบาๆไปที่ตัวนาง ทำให้นางสามารถฟื้นตื่นจากวิสัญญีภาพได้ ทันใดนั้นเอง อีรอสก็ได้ตัดพ้อชี้เพื่อชี้ให้นางไซคิเห็นโทษของความสอดรู้สอดเห็น ว่าบังเกิดภัยให้แก่นางถึงสองครั้งสองหนแล้ว จากนั้นก็ให้นางไซคิปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบจากจากเจ้าแม่อโฟร์ไดท์ต่อให้เสร็จ ส่วนตัวอีรอสเองจะขึ้นไปทูลขอต่อเทพซูส ให้ช่วยเกลี้ยกล่อมให้เจ้าแม่อโฟร์ไดท์ช่วยละเว้นโทษให้นางไซคิเสียที ซึ่งเทพซูสก็ได้ให้ตามที่อีรอสขอ หลังจากที่เจ้าแม่อโฟร์ไดท์ยอมละเว้นโทษแก่นางไซคิแล้ว เทพซูสก็ได้ประทานน้ำอมฤตให้นางไซคิดื่ม ซึ่งมีผลให้นางไซคิสามารถอยู่ยืนยาวเป็นอมตะ และได้ครองรักกับอีรอสตลอดไปโดยไม่ต้องพลัดพรากจากกันอีกต่อไป

ที่มา  http://www.tumnandd.com/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%AA-eros-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD-cupid/

Athena อาเทน่าเทพีแห่งสงครามและปัญญา

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Athena อาเธน่า เทพีแห่งสงคราม และปัญญา

      กล่าวถึงคณะเทพโอลิมเปียนซึ่งมีเทพีพรหมจารีปรกอบอยู่ด้วยกัน 3 องค์ มีชื่อตามลำดับ ได้แก่ เฮสเทีย (Hestia) เอเธน่า (Athene) และ อาร์เตมิส (Artemis) ซึ่งเทพีองค์แรกถือเป็นเทพีภคินีของเทพปริณายกซูส ส่วนอีก 2 องค์หลังนั้นเป็นธิดาของเทพปริณายกซูส ซึ่งแต่ละองค์มีประวัติเล่าขานและความสำคัญที่แตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้

      การประสูติของเทพีเอเธน่าเป็นที่กล่าวขานกันว่า ครั้งหนึ่งในอดีต ซูสเทพบดีได้ฟังคำทำนายขึ้นมาว่า โอรสธิดาที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากมเหสีมีทิส (Metis) ผู้ทรงปัญญา จะมีอำนาจในการล้มบัลลังก์ของพระองค์ได้ในอนาคต เมื่อได้ฟังดังนั้นไท้เธอก็พยายามแก้ปัญหาง่ายๆ โดยการจับตัวมีทิสที่กำลังตั้งครรภ์แก่กลืนเข้าไปอยู่ในท้อง แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน เทพปริณายกซูสก็เกิดอาการปวดหัวขึ้นมาอย่างหนักทบทนไม่ไหว  ไท้เธอจึงมีเทวโองการรับสั่งให้เทพทั่วเขาโอลิมปัสมาร่วมประชุม เพื่อให้ช่วยกันคิดหาทางออกที่จะบำบัดอาการปวดหัวที่ไท้เธอเป็นอยุ๋  แต่ก็ไม่มีทวยเทพองค์ใดสามารถคิดแก้ไขปัญหาออกได้เลยแม้แต่ผู้เดียว ซึ่งในขณะนั้น เทพซูสก็ไม่อาจจะทนความรู้สึกเจ็บปวดเช่นนี้อีกต่อไปได้ จึงมีเทวบัญชาเพื่อสั่งโอรสองค์หนึ่วของพระองค์ ที่ชื่อว่า ฮีฟีสทัส (Hephaestus) หรือ วัลแคน (Vulcan) นำขวานมาผ่าลงไปที่เศียรของไท้เธอ เทพฮีฟีสทัสก็ปฏิบัติตามคำสั่งของบิดา และเอาขวานจามลงไปที่เศียรเทพซูส แต่ยังไม่ทันที่ขวานจะทำให้เศียรของเทพซูสแยกออกจากกันดี เทพีเอเธน่าก็ประสูติขึ้นมาจากเศียรของเทพบิดา โดยลักษณะของเธอนั้นอยู่ในวัยที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว และฉลององค์ด้วยหุ้มเกราะงามแวววาว และในมือถือหอกเป็นอาวุธ เทพีเอเธน่าประกาศชัยชนะด้วยเสียงอันดังไปทั่วจนเป็นที่พิศวงหวั่นหวาดแก่ทวยเทพทั้งหลายอย่างที่สุด และทันใดนั้นเอง พื้นพสุธาและมหาสมุทรก็เกิดการสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นการประกาศให้โลกรู้ว่า เทพีเอเธน่าองค์นี้ได้ถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว

      การอุบัติของเทพีเอเธน่าถือเป็นโชคดีที่จะนำโลกไปยังสันติสุขและช่วยกำจัดความโง่เขลาที่ปกครองโลกที่เคยมีให้หมดสิ้นไป ซึ่งการที่เจ้าแม่กำเนิดออกมาจากเศียรของเทพซูส เทพีแห่งความโฉดเขลาซึ่งไม่ปรากฏรูป ก็หนีให้เจ้าแม่เข้าครองแทนที่ เพราะฉะนั้น เทพีเอเธน่าจึงถือเป็นที่บูชาในฐานะเทพีผู้มีปัญญา อีกทั้งยังเป็นเทพีที่มีฝีมือในการหัตถกรรม เย็บปักถักร้อย รวมไปถึงยุทธศิลปในการปกป้องบ้านเมืองก็มีดีไม่แพ้ใคร

      หลังจากการประสูติของเจ้าแม่เอเธน่าได้ไม่นาน ก็มีหัวหน้าชาวฟีนิเชียคนหนึ่ง ที่มีนามว่า ซีครอบส์ (Cecrop) ได้นำเอาบริษัทบริวารเดินทางอพยพเข้าสู่ประเทศกรีซ และได้เลือกชัยภูมิอันกว้างใหญ่แห่งหนึ่งในแถบแคว้นอัตติกะ (Attica) ก่อนจะจัดตั้งสร้างภูมิลำเนา สร้างบ้านเรือนขึ้น จนในที่สุดก็กลายเป็นนครอันสวยงามนครหนึ่ง เทพทั้งกลายที่คอยเฝ้าดูการสร้างเมืองแห่งนี้ ล้วยเต็มเปี่ยมไปด้วยความเลื่อมใส และเมื่อเห็นว่าเมืองที่สร้างมีเค้าใกล้จะกลายเป็นนครยิ่งใหญ่อันแสนน่าอยู่ขึ้นมาแล้ว แต่ละเทพก็ต่างแสดงความปรารถนาอยากจะได้เอกสิทธิ์ประสาทชื่อนครกันทั้งนั้ย ด้วยเหตุนี้จึงมีการประชุมเพื่อถกถึงเรื่องนี้ ซึ่งระหว่างการประชุมก็มีการอภิปรายโต้แย้งกันมากมาย แต่เทพส่วนใหญ่ก็ต่างพากันสละสิทธิ์ไปจนหมด เหลือแต่เพียงเทพโปเซดอนและเทพีเอเธน่า 2 องค์เท่านั้น ที่ยังไม่ยอมวางมือ และยังคงแก่งแย่งเมืองนี้กันอยู่ต่อไป

      เพื่อต้องการให้ยุติปัญหาว่าผู้ใดกันแน่ที่สมควรจะได้รับเอกสิทธิ์ในการประสาทชื่อนครแห่งนี้ แต่เทพปริณายกซูสก็ไม่พึงประสงค์จะชี้ขาดด้วยเกรงว่าจะทำให้เป็นที่ครหาว่าพระองค์เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นได้ ว่าแล้ว ไท้เธอจึงได้มีเทวโองการว่า นครแห่งนี้ควรจะอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของเทพ หรือเทพี ซึ่งมีความสามารถในการเนรมิตสิ่งของที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อมนุษย์ที่สุดให้ เพื่อให้มนุษย์สามารถนำไปใช้ได้ และมอบอำนาจให้ที่ประชุมมีหน้าที่ในการตัดสินชี้ขาดว่าใครนั้นมีความเหมาะสมมากกว่ากัน

      เทพโปเซดอนเป็นผู้เริ่มสร้างก่อน เธอได้ยกตรีศูลคู่มือขึ้นมากระแทกลงไปบนพื้น ซึ่งทำให้เกิดเป็นม้าลำยองตัวหนึ่งผุดขึ้นมา เหล่าเทพทั้งหลายต่างพากันส่งเสียงแสดงความพิศวงและกล่าวชื่นชมในเทพผู้นี้เป็นอย่างมาก เทพโปไซดอนได้อธิบายถึงคุณประโยชน์ของม้าตัวนี้ให้แก่เหล่าเทพทั้งหลายทั้งปวงได้ฟัง ซึ่งทำให้เทพทุกองค์ต่างคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า เทพีเอเธน่าคงจะไม่อาจเอาชนะได้เป็นแน่แท้ พร้อมกับมีอารมณ์เบิกบานและกล่าว เย้ยหยันด้วยเสียงอันดังก้อง ทันใดนั้นเอง เจ้าแม่เอเธน่าก็ได้เนรมิตเป็นต้นมะกอกต้นหนึ่งขึ้นมา และเจ้าแม่ก็ได้อธิบายถึงคุณสรรพคุณของต้นมะกอก ว่ามนุษย์จะสามารถนำเอามันไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้างนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อไม้ ผล กิ่งก้าน หรือใบ อีกทั้งมะกอกยังถือเป็นเครื่องหมายแห่งสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งแน่นอนว่าคงจะเป็นประโยชน์และเป็นที่พึงประสงค์กว่าม้าตัวนั้น ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งสงครามเป็นแน่ เมื่อเหล่าเทพได้ฟังดังนั้น ก็ต่างคิดเห็นเช่นกัน ว่าของที่เจ้าแม่เอเธน่าสร้างขึ้นมานั้นมีประโยชน์กว่าจริงๆ เหล่าเทพจึงได้ลงมติเข้าช้างเจ้าแม่ ทำให้เจ้าแม่เป็นผู้ไดรับชัยชนะไปในที่สุด ทำให้เจ้าแม่เอเธน่าได้เป็นผู้ตั้งชื่อนครแห่งนั้น ตามชื่อของเจ้าแม่เองว่า เอเธนส์ (Athens) เพื่อเป็นเครื่องมือที่คอยระลึกถึงชัยชนะในครั้งนี้ และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ชาวกรุงเอเธนส์ก็ให้การเคารพบูชาเจ้าแม่ ในฐานะที่เธอเป็นเทพีผู้ปกครองนครของพวกเขามาอย่างดีตลอดมา

      เรื่องที่เล่ามานี้ไม่ใช่เพียงแค่ต้นกำเนิดของชื่อเมืองเอเธนส์เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการกล่าวถึงตำนานการกำเนิดของม้าที่อยู่ในเทพปกรณัมกรีกอีกด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นการเล่าถึงที่มาของต้นมะกอก ว่าที่ชาวตะวันตกถือว่าช่อมะกอกใช้เป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ ก็เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้นี่เอง

      อีกเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเทพีเอเธน่าเช่นกัน เรื่องเล่านี้เป็นเรื่องที่แสดงถึงที่มาหรือต้นกำเนิดของสิ่งจากธรรมชาติเพื่อสนองต่อความอยากรู้อยากเห็นของคนโบราณ ดังจะกล่าวถึงดังต่อไปนี้

      ในสมัยดึกดำบรรพกาล ประเทศกรีซมีดรุณีน้อยผู้หนึ่งที่มีรูปโฉมหน้าตาที่งดงามน่าพิสมัย ที่มีชื่อว่า อาแรคนี (Arachne) อย่างไรก็ตาม นางผู้นี้มีความหยิ่งผยองในฝีมือการทอผ้าและการปั่นด้ายอันยอดเยี่ยมของนางเป็นอย่างมาก ทำให้เป็นข้อเสียเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เธอไม่ได้เป็นที่รักของเทพและมนุษย์ทั้งมวลเสียเท่าไร

      อาแรคนี ทะนงในตนเองว่า นางเท่านั้นที่มีฝีมือในด้านหัตถกรรม และสำคัญตนว่าคงไม่มีใครที่สามารถมีฝีมือทัดเทียมเสมอกับนางได้เลย อีกทั้งยังเที่ยวคุยฟุ้งเฟื่องไปถึงไหนต่อไหนถึงความเก่งกาจของตนเองเสียอีก เมื่อความถึงหูของเจ้าแม่เอเธ เธอจึงตัดสินใจที่จะลงมาประชันฝีมือแข่งกับนางอาแรคนี ซึ่งนางอาแรคนีก็ยินดีอย่างยิ่งที่จะได้แข่งขันกับเจ้าแม่ และไม่ลืมที่จะโอ้อวดตัวเองอย่างเนือง ๆ ในที่สุด เจ้าแม่เอเธน่าก็หมดความอดทน และเกิดความรำคาญ ทำให้ต้องลงมาจากเขาโอลิมปัสเพื่อทำโทษนางอาแรคนี ไม่ให้มีใครคิดเอาเป็นแบบอย่างเช่นนี้อีก โดยวิธีการทำโทษของเจ้าแม่ทำโดยการจำแลงกายเป็นยายแก่ เพื่อเดินเข้าไปในบ้านของนางอาแรคนี เจ้าแม่เข้าไปชวนนางอาแรคนีคุยอยู่ชั่วครู่ ซึ่งนางอาแรคนีก็คุยโวถึงฝีมือของตน และเริ่มพูดถึงเรื่องการแข่งขันเพื่อประลองฝีมือกับเจ้าแม่เอเธน่า เมื่อเจ้าแม่ได้ฟังดังนั้น ก็กล่าวตักเตือนห้ามปรามอย่างละม่อม และบอกให้นางสงบปากสงบคำไว้บ้าง เพราะคำพูดไม่ดีเช่นนี้อาจเป็นเหตุให้เทพเจ้าขัดเคือง และยังผลให้นางเกิดภัยร้ายแรงแก่ตัวเองได้ แต่เนื่องจาจิตใจของนางอาแรคนีมีแต่ความมืดมนและหลงทะนงตนมากเสียจนไม่สนใจต่อคำตักเตือนของยายแก และยังพูดสำทับเพิ่มเติมอีกด้วยว่า นางอาแรคนีอยากจะให้เจ้าแม่มาได้ยินคำพูดของนางเสียเหลือเกิน และจะได้ลงมาท้าประกวดฝีมือกับนางเสียที  เมื่อเจ้าแม่ได้รับรู้แล้วว่านางอาแรคนีมีนิสัยที่ชั่วช้าเพียงใด เจ้าแม่ก็เกิดความโมใหหจนถึงขีดสุด พร้อมกับสำแดงองค์ให้นางอาแรคนีเห็นตามจริง พร้อมรับคำท้าที่จะท้าประลองฝีมือในทันที

      การแข่งขันเริ่มต้นขึ้นเมื่อทั้งสองฝ่ายจัดแจงตั้งหูกพร้อมสรรพ จากนั้นต่างฝ่ายต่างก็ทอลายผ้าอันแสนวิจิตรงดงามขึ้น โดยเทพีเอเธน่าเลือกทอภาพในครั้งที่เจ้าแม่แข่งขันประลองกับเทพโปเซดอน ในขณะที่ นางอาแรคนีก็เลือกเอาภาพซูสตอนที่ลักพาตัวนางยูโรปามาเป็นลายในการทักทอ เมื่อครั้นที่ต่างฝ่ายต่างทอเสร็จ ก็ได้นำเอาลายผ้ามาเปรียบเทียบกัน ทันทีที่นางอาแรคนีได้เห็นผ้าทอของเจ้าแม่ ก็รับรู้ได้ทันทีว่าผลงานของนางพ่ายแพ้อย่างหลุดลุ่ย ลายรูปโคโลดแล่นในทะเลในขณะที่มีคลื่นซัดสาดออกเป็นฟองฝอย กับภาพนางยูโรปาที่เกาะเขาอยู่ในอาการกึ่งยิ้มกึ่งตกใจ และมีเกศาและผ้าสไบที่พลิ้วไหลปลิวไปตามสายลมที่นางอาแรคนีทอขึ้น ไม่อาจสามารถจะเทียบเคียงกับลายรูปชมรมของเหล่าทวยเทพ ที่ขนาบข้างไปด้วยรูปม้าและต้นมะกอกเนรมิต อันดูเหมือเป็นภาพที่มีชีวิตที่เจ้าแม้ถักทอขึ้นมาได้เลย ทำให้ยางอาแรคนีรู้สึกเสียใจ เจ็บใจ และระอายใจในความผิดพลาดของตนเองเป็นอย่างมาก นางอาแรคนีไม่อาจสามารถจะทนอยู่บนโลกใบนี้ได้อีกต่อไป จึงได้เอาเชือกผูกคอเพื่อหมายจะปลิดชีวิตของตนเอง แต่เมื่อเจ้าแม่เอเธน่าได้เห็นดังนั้นว่านางอาแรคนีคิดจะหนีโทษทัณฑ์ไป เจ้าแม่จึงรีบสาบเพื่อเปลี่ยนกายของนางอาแรคนีให้กลายเป็นแมงมุมห้อยโตงเตง และสาปให้แมงมุมนางอาแรคนีต้องปั่นและทอใยไปเรื่อยๆแบบไม่มีวันหยุด ทั้วนี้ก็เพื่อเป็นการตักเตือนมนุษย์ไม่ให้เกิดมีมนุษย์ที่คิดจะทะนงตนทัดเทียมเทพเช่นเดียวกับนางอาแรคนีอีกเด็ดขาด

      ตามปกติแล้ว เทพีเอเธน่าจะประทับอยู่เคียงข้างซูสเทพบิดาตลอดเวลา เพื่อคอยให้คำปรึกษา ความเห็น หรือคำแนะนำแสนแยบคายต่อเทพซูสตลอดเวลา ครั้นเมื่อมีศึกสงครามเกิดขึ้นบนโลก เทพีเอเธน่าก็จะขอประทานยืมโล่ของเทพบิดาลงมาสนับสนุนให้แก่ฝ่ายที่ถูกต้อง และมีเหตุผลอันชอบธรรมในการสงครามอยู่เสมอ ดังเช่น สงครามกรุงทรอยที่เป็นที่โจษจันกันไปทั่ว ซึ่งศึกครั้งนั้น เทพีเอเธน่าก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่ขอเข้าร่วมด้วย เธออยู่ฝ่ายเดียวกับกรีก ซึ่งตรงข้ามกับเทพองค์อื่น ๆ เช่น เทพีอโฟร์ไดท์ หรือ เทพเอเรส เป็นต้น ที่หันไปเข้าข้างฝั่งทรอย

      ด้วยเหตุที่เทพีเอเธน่ามีความสามารถในการทำสงคราม จึงทำให้เจ้าแม่กลายเป็นเทพีอุปถัมภ์ของบรรดานักรบไปด้วยพร้อมๆกัน จะไม่มีวีรบุรุษคนสำคัญใดๆบนโลกเกิดขึ้นได้เลย หากขาดการสนับสนุนช่วยเหลือจากเจ้าแม่ มีครั้งหนึ่งที่เทพีเอเธน่าเคยช่วยเฮอร์คิวลิสทำสงคราม ซึ่งทำให้เขาสามารถทำงาน 12 อย่างตามที่เทพีฮีร่าสั่งเอาไว้ได้ อีกทั้ง ยังเคยช่วยเปอร์เซอุสฆ่านางการ์กอนเมดูซ่า ช่วยโอดีสซีอุส (หรือยูลิซิส) ให้เดินทางกลับจากยุทธภูมิสู่ทรอยได้อย่างปลอดภัย รวมไปถึงการช่วยเหลือเตเลมาคัส ผู้เป็นบุตรชายของโอดีสซีอุสให้สามารถเจอพ่อได้สำเร็จ

      ด้วยความที่ชาวกรีกนับถือเจ้าแม่เป็นอย่างมาก ชาวกรีกจึงได้มีการสร้างวิหารเพื่อถวายบูชาแด่เทพีเอเธน่าเอาไว้ มากมายนับไม่ถ้วน แต่สถานที่แห่งหนึ่งที่นับได้ว่ามีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือ วิหาร พาร์ธีนอน ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงเอเธนส์ ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะหลงเหลือแต่เพียงซาก ก็ยังคงมีเค้าของงานฝีมืออันวิจิตรพิสดารหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง

      นอกจากชื่อ เอเธน่า หรือ มิเนอร์วา แล้ว ชาวกรีกและชาวโรมันยังเรียกชื่อเจ้าแม่ในอีกหลายรูปแบบ โดยชื่อที่แพร่หลายมากที่สุด ได้แก่ พัลลัส (Pallas) ทำให้จนบางที เจ้าแม่ก็ถูกเรียกชื่อควบว่าเป็น พัลลัสเอเธน่า เลยก็มี ซึ่งต้นเหตุที่ชื่อนี้ถูกเรียกกันอย่างกว้างขวาง ก็เพราะครั้งหนึ่งเจ้าแม่เคยปราบยักษ์ตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า พัลลัส แม้ตำนานจะไม่ปรากฏชัดแจ้ง แต่ก็มีเรื่องเล่ากันมาว่า เจ้าแม่สามารถฆ่ายักษ์ตนนี้ได้สำเร็จ และถลกเอาหนังของยักษ์ออกมาคลุมองค์ ทำให้กลายเป็นที่มาของชื่อเรียกนี้ไปในที่สุด อีกทั้ง รูปปั้นประติมาหรืออนุสาวรีย์ของพระองค์ ก็ถูกเรียกว่า พัลเลเดียม (Palladium) ซึ่งคำว่า Palladium ในภาษาอังกฤษก็หมายความถึง ภาวะหรือปัจจัยที่นำพาความคุ้มครอง หรือความปลอดภัยให้บังเกิดแก่หมู่ชน เปรียบเสมือนพัลเลเดียมที่ชาวโรมันรักษาเอาไว้ในวิหารเวสตานั่นเอง

      เมื่อกล่าวถึงการครองความบริสุทธิ์ของเจ้าแม่ ก็มีตำนานเล่าขานเอาไว้ว่า เทพฮีฟีสทัสนั้นแอบหลงรักและต้องการตัวของเจ้าแม่มาวิวาห์ด้วย เธอจึงได้ไปทูลขอต่อเทพบิดา ซึ่งเทพบิดาก็อนุญาตแต่โดยดี แต่ก็ให้ฮีฟีทัสมาลองถามความสมัครใจของเจ้าแม่เอาเอง แต่ไม่รู้ว่าเทพฮีฟีทัสไปทำอะไรไม่ดีเอาไว้ จึงทำให้เจ้าแม่ปฏิเสธการแต่งงานครั้งนี้ ทำให้ฮีฟีสทัสคิดจะรวบรัดตัดตอนฉุดเอาตัวเจ้าแม่มาโดยพลการ  ระหว่างการแย่งชิงตัวครั้งนี้ ความไม่บริสุทธิ์ของฮีฟีทัสก็ล่วงหล่นลงมายังพื้นโลก ก่อให้เกิดเป็นทารกเพศชาย คนหนึ่งผุดขึ้นมาในทันใด ทำให้เจ้าแม่สามารถรอดพ้นจากการแปดเปื้อนมลทินครั้งนี้ได้  แต่ก็ได้รับทารกเอามาดูแลเอง โดยบรรจุทารกอาไว้ในหีบ เฝ้ายามโดยงู และฝากให้ลูกสาวของท้าวซีครอปส์ช่วยดูแลอีกทอดหนึ่ง พร้อมกำชับอย่างเด็ดขาดว่ามิให้เปิดหีบออกดู แต่ลูกสาวของท้าวซีครอปส์ก็ขัดขืน และพยายามจะเปิดหีบใบนั้นออกดู เมื่อเปิดหีบขึ้นมาก็พบกับงูเข้า จึงวิ่งหนีตกเขาตายไป ส่วนทารกคนนั้น ก็มีชื่อว่า อิริคโธเนียส (Erichthonius) ซึ่งเมื่อเติบโตในภายหลังก็ได้ขึ้นครองกรุงเอเธนส์ ในขณะที่เจ้าแม่เอเธน่าก็ไม่ได้รับการเกี้ยวพาราศีจากเทพองค์ใดเลยอีกต่อไป แม้ว่าจะมีบางตำนานที่กล่าวถึงว่า เทพีเอเธน่าเคยหลงรักกับบุรุษรูปงามผู้หนึ่งที่มีชื่อว่า เบลเลอโรฟอน จนถึงกับเก็บไปฝันว่าเอาอานม้าทองคำมาให้เขา ทั้งนี้ ก็เพราะชายหนุ่มต้องการจะได้มีโอกาสขึ้นขี่ม้าวิเศษเปกาซัส แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฏตำนานเรื่องเล่าว่าเทพีเอเธน่าได้สานต่อเรื่องราวความสัมพันธ์กับเบลเลอโรฟอนแต่อย่างใด และบุรุษหนุ่มผู้นี้ก็มาเกิดอุบัติเหตุตกม้าตายในภายหลังด้วย

      เทพีเอเธน่ามีพฤกษาประจำตัวเป็นต้นโอลีฟ และมีนกคู่ใจเป็นนกฮูก

ที่มา  http://www.tumnandd.com/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2-athena/

Artemis อาร์เทมีสเทพีแห่งจันทรา

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Artemis อาร์เทมีสเทพีแห่งจันทรา

      ก่อนหน้านี้ได้พูดถึงเทพอะพอลโล ผู้เป็นสุริยเทพหน้าตาดีกันไปแล้ว คราวนี้ก็ต้องขอพูดถึงเทพีอาร์เทมิสผู้งดงามและสง่างามไม่แพ้กับเทพอะพอลโลผู้เป็นพระเชษฐากันบ้าง ทั้งสองพระองค์ถือเป็นพี่น้องฝาแฝดชายหนุ่มของกันและกัน ซึ่งโด่งดังมากที่สุดเลยทีเดียว เทพีอาร์เทมิสถือเป็นพระธิดาของเทพซีอุสและเทพีแลโตนา ซึ่งชีวิตของพระองค์ในครั้งที่เป็นเด็กนั้นไม่ได้ราบรื่นเสียเท่าไร ตามที่เคยได้กล่าวถึงไปแล้วในตอนของ เทพอะพอลโล สุริยเทพแห่งกรีก

      เทพีอาร์เทมิส ถือเป็นจันทราเทพีผู้ปกครองช่วงเวลาในตอนกลางคืน และถือเป็นเทพีผู้มอบแสงสว่างให้แก่รัตติกาลอีกด้วย ในขณะเดียวกัน พระเทพีก็ยังมีแนวทางที่แตกต่างจากเทพีองค์อื่นๆ โดยเทพีอาร์เทมิสจะมีลักษณะออกแนวบู้ๆ รักการล่าสัตว์ พระองค์จะมีอาวุธคู่กายเป็นคันธนูและลูกศรติดตัวเอาไว้อยู่เสมอ พระองค์จึงมักถูกนับถือในนามของเทพีผู้คุ้มครองสัตว์ป่าเสียมากกว่า หากมีผู้ใดที่เข้าไปในเขตป่าของพระองค์โดยไม่ได้รับการยินยอม และเข้ามาทำร้ายหรือจับสัตว์ีป่าที่อาศัยอยู่ในอาณาเขตของพระองค์แล้ว หากพระเทพีทราบเข้าก็จะทำการสังหารบุคคลผู้นั้นจนตายด้วยลูกธนู

      เทพีอาร์เทมิสถือเป็นเทพีที่ดำรงอยู่ในพรหมจรรย์ตามรอยเทพีเฮสเทียและเทพีอธีน่า เนื่องจากพระองค์เห็นมาก่อนว่า เทพีแลโตนาผู้เป็นมารดาจะอดทนอยู่กับความทุกข์มากมายเพียงใด ซึ่งเธอนั้นต้องฝันฝ่าอุปสรรคความรักที่ลิขิตให้มาเป็นพระชายาเทพซีอุสโดยมีเทพีเฮร่าตามรังควาญ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระเทพีกลัวความจริงในการออกเรือน และให้สัญญาว่าจะไม่ขอมีครอบครัว อีกทั้งยังขอรักษาพรหมจรรย์ที่มีเอาไว้ยิ่งชีพ

      อย่างไรก็ตาม ยังคงมีตำนานบางเรื่องที่กล่าวถึงพระเทพีผู้นี้ว่าเคยไปหลงรักกับบุรุษรูปงาม 2 คน ที่มีนามว่า ไอโอออน กับ เอนดิเมียน แต่เรื่องราวของตำนานเหล่านี้ก็มักจะจบท้ายแบบไม่ดีเสียทุกครั้ง ทำให้สามารถบอกได้เลยว่า ความรักของเทพผู้นี้เป็นความรักที่น่าสงสารและไม่ค่อยจะสมหวังเสียเท่าไร

      ตามคำบอกเล่าว่ากันว่า  เทพีอาร์เทมิสมีรูปกายงดงาม เป็นที่น่าเคารพ และถือเป็นเทพีแห่งแสงจันทร์ แต่ก็ยังพบว่าบางตำนานมีการกล่าวถึงเทพีอาร์เทมิสในอีกรูปแบบ ว่าพระองค์นั้นมีความโหดเหี้ยมอำมหิตไม่เหมือนเทพีองค์อื่นๆ ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้

      กล่าวถึงตำนานของนายพราน “แอคเตียน” ที่บังเอิญพลัดหลงเข้าไปในป่าต้องห้าม เขาผู้นี้น่าสงสารเป็นอย่างมากเพราะไม่สามารถหาทางออกได้ ซึ่งบริเวณที่หลงทางถือเป็นเขตอาณาเขตของเทพีอาร์เทมิส เขาผู้นี้บังเอิญไปเจอเทพีอาร์เทมิสที่กำลังออกมาอาบน้ำเข้า เทพีอาร์เทมิสอาบน้ำอย่างสบายใน โดยมีนางไม้หลายต่อหลายตนค่อยดูแลอยู่ไม่ห่าง ด้วยความงามของเทพีอาร์เทมิส ที่มีผิวขาวนวลเหมือนแสงจันทร์ เส้นผมเปล่งประกายคล้ายทองคำที่ถูกส่องด้วยแสงอาทิตย์ ทำให้นายพรานหนุ่ม แอบดูอยู่ในพุ่มไม้บริเวณใกล้ๆนั้นแบบไม่วางตา แม้จะรู้สึกเกรงกลัวในฤทธิ์เดชของเทพีองค์นี้อยู่ไม่น้อย โชคร้ายที่พระเทพีก็ได้เหลือบไปเห็นแสงประกายแสนแปลกประหลาดที่โผล่ออกมาจากพุ่มไม้ จึงรู้สึกผิดสังเกตและรับรู้ได้ว่ามีใครบางคนกำลังแอบดูพระองค์อยู่ พระเทพีเทพีอาร์เทมิสรู้สึกพิโรธเป็นอย่างมากที่ถูกแอบถ้ำมอง เมื่อนายพรานรู้ตัวว่าพระเทพีจับได้ว่าตนแอบกระทำการมิชอบ ก็คิดจะหนี แต่ว่าพระเทพีเทพีอาร์เทมิสก็ได้ใช้มือตักน้ำขึ้นมาสาดไปถูกนายพรานหนุ่มอย่างเจ็มแรง ซึ่งเมื่อนายพรานโดนน้ำก็กลายร่างไปเป็นกวางป่าไป นายพรานในร่างของกวางพยายามวิ่งหนีอย่างสุดกำลังเพื่อหวังจะออกไปเพื่อขอความช่วยเหลือจากใครสักคน แต่บังเอิญได้ไปพบกับสุนัขล่าเนื้อของตนเข้า แต่สุนัขตัวนี้ออกตามไล่กัดนายพรานผู้เป็นเจ้าของเพราะไม่รู้ว่ากวางตัวนี้คือนายของตนเอง และสุดท้ายนายพรานหนุ่มก็ต้องเสียชีวิตลงเนื่องจากถูกสุนัขล่าเนื้อของตนสังหารอย่างน่าสังเวช

      เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านี้ เมื่อครั้งต่อมาได้กล่าวถึงชายหนุ่มที่มีชื่อว่า “แอดมีทัส” เขาผู้นี้เป็นสาวกที่มีหน้าที่ในการถวายเครื่องสักการะแด่องค์เทพีอาร์เทมิส แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาได้ไปพบรักกับสาวงามคนหนึ่งและตัดสินใจขอเธอเป็นภรรยา ซึ่งตัวเธอนั้นก็ตบปากรับคำที่จะเป็นภรรยาของเขาอย่างดี ซึ่งทำให้เขารู้สึกปลื้มปิติและยุ่งวุ่นวายกับการจัดงานมงคลสมรสของตนเป็นอย่างมาก ในที่สุด เขาก็หลงลืมหน้าที่ของตน ที่จะต้องทำการถวายเครื่องสักการะแด่พระเทพี เมื่อความครั้งนี้ทราบถึงหูพระเทพีว่าแอดมีทีสหลงลืมหน้าที่ของตนเอง พระองค์ก็รู้สึกโกรธเป็นอย่างมาก และได้ลงฌดทษด้วยการเสกให้ห้องหอที่แอดมีทีสจะแต่งงานกับเจ้าสาวของเขานั้น เต็มไปด้วยงูพิษมากมายนับไม่ถ้วน

      เรื่องเล่าต่อมากล่าวถึงพระราชาที่มีชื่อว่า “ท้าวโอนีอัส” ผู้ครองเมืองคาลีดอน พระราชาผู้นี้เกิดลืมที่จะถวายเครื่อสักการะแด่พระเทพีเช่นกัน ซึ่งก็มีผลให้พระเทพีเกิดอาการกริ้วเช่นเดิม และทรงบันดาลให้วัวป่าบ้าคลั่งพุ่งเข้าทำลายเมืองคาลีดอนของพระราชาผู้นี้เสีย อีกทั้งวัวป่าตัวนี้ก็ยังเข้าทำร้ายสังหารเชื้อพระวงศ์และครอบครัวของท้าวโอนีอัสจนสิ้นพระชนม์จนหมดสิ้น ซึ่งถือเป็นการลงโทษครั้งหนึ่งจากพระเทพีพระองค์นี้  ที่รุนแรงและโหดร้ายเป็นอย่างมาก

      ไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะพระเทพีก็เคยลงโทษนางไม้ผู้น่าสงสารที่มีชื่อว่า “คัสลิสโต” เธอนั้นถูกเทพซีอุสจับไปปลุกปล้ำเป็นชายา และเนื่องจากเทพีอาร์เทมิสไม่สามารถว่ากล่าวอะไรต่อเทพซีอุสผู้เป็นบิดาได้ เทพีอาร์เทมิสจึงไปลงมือเอากับนางไม้คัสลิสโตผู้น่าสงสารนี้แทน เทพีอาร์เทมิสสาปให้นางไม้กลายร่างไปเป็นหมี เท่านั้นไม่พอ พระโอรสที่เกิดจากนางคัสลิสโตกับเทพซีอุส ซึ่งไม่ทราบว่าพระมารดาของตนกลายเป็นหมีไปแล้ว ก็ได้ทำการสังหารหมีตัวนั้นตายกับมือ แต่เมื่อมาทราบเอาภายหลังว่าหมีตัวนั้นคือแม่แท้ๆของตัวเองที่ถูกเทพีอาร์เทมิสสาปไป  เขาก็รู้สึกสำนึกผิดเป็นอย่างมาก และตัดสินใจฆ่าตัวเองตายผู้เป็นมารดาไปเพื่อสำนึกในความผิด หลังจากที่เทพีอาร์เทมิสทราบว่าพระองค์เป็นคนผิดที่ทำให้เกิดเรื่องนี้ขึ้น เทพีอาร์เทมิสจึงได้เนรมิตให้ทั้งสองแม่ลูกไปเกิดเป็นดวงดาวบนท้องฟ้า ที่เรารู้จักกันดีว่า ดาวหมีเล็ก กับ ดาวหมีใหญ่

      แม้ว่าเมื่อดูภายนอกแล้วเทพีอาร์เทมิสจะเป็นเทพีผู้แข็งแกร่ง เพราะพระองค์ชอบที่จะทำกิจกรรมเยี่ยงบุรุษ เช่น การล่าสัตว์ เป็นต้น ซึ่งคิดว่าพระองค์น่าจะเกิดมาจากอุดมคติแห่งสตรีในสมัยกรีกโบราณที่ต้องการจะให้สตรีสามารถทำการใดก็ได้เฉกเช่นดั่งบุรุษ เพราะเทพก็เปรียบเสมือนกระจกเงาที่บอกสะท้อนถึงความเป็นมนุษย์บนโลกใบนี้นั่นเอง…

ที่มา  http://www.tumnandd.com/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%AA-artemis/

Hestia เฮสเทียเทพีแห่งเตาไฟผู้คุ้มครองบ้านเรือน

อนผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Hestia เฮสเทียเทพีแห่งเตาไฟผู้คุ้มครองบ้านเรือน

      เทพีเฮสเทีย (Hestia) หรือ เวสตา (Vesta) ในภาษาโรมัน ถือเป็นเทพีที่เป็นที่เคารพนับถือเป็นอย่างมากในฐานะที่เป็นอัคนีเทวีผู้ครองไฟ โดยเฉพาะไฟในเตาผิงตามบ้านเรือน ทำให้เจ้าแม่ถือเป็นที่นับถือว่าเป็นผู้คุ้มครองชีวิตความเป็นอยู่ของคนในบ้านด้วย

      ครอบครัวกรีก และโรมัน ถือว่าเตาไฟผิงเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมากสำหรับทุกๆบ้าน พวกเขาถือว่าไฟที่ลุกโชติช่วงบนเตาถือเป็นไฟของเจ้าแม่ เมื่อใดที่มีเด็กเกิดใหม่ขึ้นมาในบ้านของชาวกรีก เมื่อเด็กอายุได้ครบ 5 วัน พ่อของเขาจะอุ้มลูกไปวนเวียนอยู่รอบเตาผิง ซึ่งเดิมที่จะตั้งไว้อยู่กลางบ้าน ไม่ได้ตั้งอยู่ติดฝาผนังเหมือนอย่างในสมัยนี้ การอุ้มลูกไปเดินเวียนรอบเตาผิงก็เพื่อแสดงให้รู้ว่า เจ้าแม่จะได้รับเอาเด็กคนนั้นไปไว้ในการดูแลอารักขา และช่วยคุ้มครองโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เด็กเริ่มหัดเดิน

      เฮสเทียถือเป็นพี่สาวคนโตของเทพซูส และเป็นเทวีที่ครองความโสดไว้อย่างยอดเยี่ยม ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความเคารพนับถือเฮสเทียด้วยเหตุผลอีกหนึ่งประการ ที่ว่า เฮสเทีย นั้นไม่ยอมตกเป็นชายาของเทพซูส หรือแม้โปเซดอนผู้เป็นพี่ชายจะขออภิเษกด้วย เฮสเทียก็ยังคงยืนยันไม่ยินยอม ในขณะที่ อพอลโล ผู้เป็นหลาน ก็ล้วนถูกเฮสเทียปฏิเสธเช่นกัน

      เจ้าแม่เฮสเทีย อยู่ในวิหารที่มีลักษณะเป็นวงกลม และมีเจ้าพิธีเป็นหญิงพรมหมจารี ผู้ที่เสียสละการวิวาห์เพื่ออุทิศถวายแก่เจ้าแม่ และยังคอยทำหน้าที่เติมเชื้อไฟในเตาไฟสาธารณะ ซึ่งมีอยู่ประจำในทุกนครให้สว่างโชติช่วงตลอดไป

      เป็นที่เชื่อกันว่า ชาวโรมันบูชาเจ้าแม่เฮสเทียเผยแผ่ไปไกลถึงประเทศของตน โดยมี อีเนียส (Aeneas) เป็นคนตั้งต้นในการนำเรื่องที่ว่านี้ไปเผยแผ่ จากนั้น นูมาปอมปิเลียส (Numa Pompilius) ผู้เป็นกษัตริย์แห่งกรุงโรมก็ได่ก่อสร้างศาลเจ้าเพื่อมอบถวายให้แก่เจ้าแม่ในสถานที่กลางยี่สานโรมัน หรือที่เรียกกันว่า Roman Forum โดยเขามีความเชื่อที่ว่า บริเวณนี้เป็นที่ที่เหมาะสม และสวัสดิภาพของกรุงโรมรวมไปถึงแผ่นดินทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับการรักษาเปลวไฟอันศักดิ์สิทธิ์มี่อยู่ในวิหารแห่งนี้ให้โชติช่วงชัชวาลต่อไปด้วย

      กล่าวถึง เวศตัล (Vestal) ซึ่งเป็นหญิงพรหมจารี เธอมีหน้าที่รักษาเปลวไฟที่อยู่ภายในวิหารแห่งนี้  ในชั้นเดิมจะมีเพียงแค่ 4 คน แต่ต่อมาในชั้นหลังก็เพิ่มจำนวนเป็น 6 คน โดยทั้งหมดอยู่ใต้การดูแลของจอมอาจารย์ซึ่งเป็นบัญชาการศาสนาของโรม ที่มีชื่อว่า Pontifex Maximus

      หลังจากนั้นต่อมา เมื่อคณะเวสตัลพรหมจารีลดน้อยลง จอมอาจารย์จึงต้องคดสรรผู้สืบต่อในตำแหน่งนี้ด้วยวิธีการจับสลาก โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้สมัครเป็นเวสตัลสำรองจะต้องมีอายุในช่วงวัยระหว่าง 6-10 ปี ประกอบไปด้วยร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงสมบูรณ์ และต้องมีชาติกำเนิดเป็นชาวอิตาลี เวสตัลสำรองเหล่านี้จะเข้ารับการฝึกอบรมต่อเนื่องยาวนานถึง 10 ปี ก่อนจะได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเวสตัลผู้ปฏิบัติหน้าที่ในวิหารแห่งนี้เป็นเวลาอีก 10 ปี และหลังจากที่ครบกำหนดแล้ว ก็จะต้องทำหน้าที่ต่อโดยการสั่งสอนอบรมเวสตัลสำรองที่จะขึ้นมาเป็นเวสตัลรุ่นต่อไปอีก 10 ปี จึงจะถือว่าเกษียณอายุราชการ และจะได้เป็นไทเมื่อมีอายุเท่ากับ 40 ปี จึงจะสามารถไปประกอบอาชีพอื่นๆได้ และจะแต่งงานมีสามีได้ก็ต้องพ้นช่วงอายุนี้ไปก่อน นอกจากนี้ คนเหล่านี้ยังมีหน้าที่เติมไฟศักดิ์สิทธิ์ไม่ให้ขาด อีกทั้งพรหมจารีเวสตัลยังต้องทำภารกิจอีก 2 ประการ ประการที่หนึ่งก็คือ เธอต้องเดินทางไปบ่อน้ำพุ อิจีเรีย (Egeria) เพื่อตักน้ำที่ชานกรุงโรมในทุกวัน ซึ่งตำนานของน้ำพุนี้เล่ากันไว้ว่า เดิมทีอิจีเรียถือเป็นนางอัปสรผู้เป็นบริวารของเทวีอาร์เตมิส นางผู้นี้เป็นผู้มีปัญญาฉลาด และมีคู่หูเป็นท้าวนูมาปอมปิเลียส ซึ่งจะช่วยกันหารือการแผ่นดินมิได้ขาด กวีโอวิคได้กล่าวถึงนางไว้ว่า นางถือเป็นชายาคู่กาสยของท้าวนูมาเลยต่างหาก ในขณะที่กวีท่านอื่นกล่าวเพียงว่า นางเป็นแค่เพียงที่ปรึกษาที่รู้ใจเท่านั้น อิจีเรียมีอิทธิพลเป็นอย่างมากเห็นได้จากตอนที่ท้าวนูมาออกกฎหมายและระเบียบแผนใหม่  ก็มักจะออกประกาศกับราษฎรอยู่เสมอว่า นางอิจีเรียได้เห็นชอบกฎหมายและระเบียบแบบแผนเหล่านี้หมดแล้ว ครั้งที่ท้าวนูมาทิวงคต นางอิจีเรียก็เสียใจอย่างมาก นางได้แต่ร้องไห้จนกลายเป็นน้ำพุไปในที่สุด ชาวโรมันจึงเชื่อกันว่า น้ำพุอิจีเรียถือเป็นน้ำพุบริสุทธิ์ด้วยประการฉะนี้

      พรหมจารีเวสตัลมีหน้าที่พิเศษในการอารักขาดูแลวัตถุลึกลับมากๆสิ่งหนึ่ง ที่คนต่างเรียกกันว่า พัลเลเดียม (Palladium) ผู้คนเชื่อว่า สิ่งนี้เป็นวัตถุที่อีเนียสนำไปจากกรุงทรอย แต่ก็ไม่มีผู้ใดเว้นเสียแต่คณะเวสตัล ที่ทราบว่าสิ่งๆนั้นเป็นอะไรแน่ บ้างก็กล่าวกันว่าเป็นเพียงรูปปั้นของเจ้าแม่เอเธน่า แต่บ้างก็คิดกันว่าเป็น โล่ที่ร่วงหล่นลงมาจากสวรรค์ เมื่อศึกกรุงทรอย ชาวเมืองในกรุงทรอยถือว่าสิ่งนี้ถือเป็นของคู่บ้านคู่เมือง หากยังมีของสิ่งนี้อยู่ กรุงทรอยจะไม่แตกเป็นเด็ดขาด แต่เมื่อยูลิซิสกับไดโอมิดิสผู้เป็นทหารเอกของฝ่ายกรีกได้ขโมยเอาสิ่งนี้ไป กรุงทรอย จึงล้มสลายลง บ้างก็มีตำนานเล่าว่า ความจริงแล้วกรุงทรอยแตกเพราะเสียขวัญ และเสียท่าต่อกรีกมากกว่า

      กล่าวถึงของที่กรีกขโมยไป ถือเป็นของปลอมที่ฝ่ายกรุงทรอยแกล้งทำเอาไว้ลวงไม่ให้ของแท้ถูกขโมย ส่วนพัลเลเดียมของจริงยังคงอยู่ที่เดิมในกรุงทรอย เมื่อพวกกรีกลอบเข้าเมืองมาได้ อีเนียสก็พาเอาไปด้วยจนถึงที่อิตาลี ภาย หลัง ชาวโรมันก็รักษาเอาไว้ในที่มิดชิดภายในวิหารเจ้าแม่เฮสเทีย และอยู่ในการดูแลคุ้มครองอย่างเคร่งครัดของคณะเวสตัลพรหมจารี

      พรหมจารีเวสตัลไม่ได้มีแค่หน้าที่สำคัญตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเท่านั้น แต่ยังคงมีสิทธิ์เหนือคนทั่วไปหลายประการด้วย เช่น หากมีงานรื่นเริงเฉลิมฉลองสมโภช หรือการแข่งขันสาธารณะ คณะเวสตัลพรหมจารีจะได้รับที่พิเศษที่จัดไว้โดยเฉพาะเป็นเกียรติยศ และเมื่อเวสตัลพรหมจารีเดินทางไปต่างแดน ก็จะมีเจ้าพนักงานผู้ถือมัดขวานที่เรียกว่า fasces นำหน้า อันเป็นเครื่องหมายแสดงอำนาจทัดเทียมด้วยอำนาจตุลาการ มัดขวานที่ว่านี้เป็นขวานที่หุ้มด้วยไม้กลมอันเล็ก  และรอบขวานจะมัดเอาไว้ด้วยกัน ส่วนยอดขวานโผล่หันคมออก ซึ่งถือเป็นของสำหรับเจ้าพนักงานผู้ถือหน้าตุลาการ อันมีความหมายถึงอำนาจในการตัดสินอรรถคดี เมื่อพรหมจารีเวสตันเป็นพยานให้การในศาล ก็จะได้สิทธิพิเศษโดยไม่ต้องสาบานว่าจะพูดความจริง เพียงแค่ให้การแบบลุ่นๆเท่านั้น  ถ้าบังเอิญว่าเวสตัลคนใดไปพบนักโทษคนใดเข้าในระหว่างทางที่ถูกพาตัวไปประหารชีวิต ถ้าพรหมจารีเวสตันประสงค์ให้นักโทษพ้นโทษ พวกเขาก็จะได้รับการอภัยโทษให้เป็นไทได้ ณ ที่นั้นในทันทีโดยพลการ

      ชาวโรมันให้การนับถือเจ้าแม่เฮสเทียมาโดยตลอดจนมาถึงในช่วงคริสตศักราชปีที่ 380 จึงได้ยุติลง ด้วยอธิราชธีโอโดเซียสเป็นผู้สั่งให้ยกเลิกการเติมไฟศักดิ์สิทธิ์ และยกเลิกการจัดตั้งคณะพรหมจารีเวสตัลให้พ้นไป

ที่มา  http://www.tumnandd.com/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%AE%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A2-hestia/

Hera ฮีร่าเทพีแห่งสวรรค์

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Hera ฮีร่า เทพแห่งสวรรค์

      ฮีร่า (Hera) หรือจูโน (Juno) ถือเป็นราชินีของเทพธิดาทั้งปวง เพราะเธอเป็นชายาของซูสผู้ยิ่งใหญ่ ประวติความเป็นมาของฮีร่ากล่าวไว้ว่า เธอเป็นธิดาองค์แรกของเทพไทแทนโครนัสกับเทพมารดารีอา ซึ่งได้อภิเษกสมรสกับ ซูสเทพบดีผู้เป็นอนุชาของนางในภายหลัง ด้วยเหตุนี้ฮีร่าจึงกลายเป็นราชินีที่สูงที่สุดในสรวงสวรรค์ชั้นโอลิมปัส ที่เป็นที่คร้ามเกรงของคนโดยทั่วไป เทวีฮีร่าไม่ชอบนิสัยเจ้าชู้ของสวามีของตน เพราะเทพซูสเป็นเทพที่เจ้าชู้ และมักจะประพฤติตนให้เทพีฮีร่าหึงหวงอยู่เสมอ อีกทั้งยังคอยลงโทษหรือคิดพยาบาทบุคคลที่คิดจะมาเป็นภรรยาน้อยของเทพซูสอยู่เสมอด้วย

      ตอนแรกที่ซูสขอฮีร่าแต่งงาน นางฮีร่าก็ปฏิเสธ และยังคงปฏิเสธเรื่อยมาจนถึง 300 ปี แต่เมื่อวันหนึ่ง ซูสก็ได้วางแผนคิดอุบายปลอมตัวเป็นนกกาเหว่า ที่เปียกปอนไปด้วยพายุฝนและบินไปเกาะที่หน้าต่างที่ห้องนางฮีร่า เมื่อฮีร่าเห็นเข้าก็นึกสงสาร จึงได้จับนกตัวนั้นมาลูบขนพร้อมกับกล่าวคำว่า “ฉันรักเธอ” ทันใดนั้นเอง ซูสก็แปลงร่างกลับคืน และขอให้ฮีร่าแต่งงานกับพระองค์

      แต่ชีวิตคู่ของเทวีฮีร่ากับเทพปริณายกซูสก็มีสะดุดอยู่เรื่อยมา ทั้งสองมักจะทะเลาะและมีปากเสียงกันบ่อยตลอดเวลา จนเป็นหนึ่งความเชื่อของชาวกรีกโบราณว่า เมื่อใดที่เกิดพายุฟ้าคะนองอย่างดุเดือด เมื่อนั้นแสดงถึงสัญญาณว่า เทพซูสกับเทพีฮีร่ากำลังต้องทะเลาะกันอยู่อย่างแน่นอน เนื่องจากเทพทั้งสองถือเป็นสัญลักษณ์แห่งสรวงสวรรค์

      แม้ว่าเทวีฮีร่าจะถือเป็นราชินีแห่งสรวงสวรรค์หรือเทพมารดาแทนรีอา แต่เมื่อพิจารณาจากความประพฤติและอุปนิสัยของเจ้าแม้แล้ว กลับพบว่าไม่อ่อนหวานหรือมีเมตตาสมกับที่เป็นเทพแห่งมารดาเลย เจ้าแม่นั้นเป็นทั้งบุคคลที่โหดร้าย  ขาดเหตุผล  เจ้าคิดเจ้าแค้น และเป็นเทพีที่ชอบคิดอาฆาตจนถึงที่สุด  หากผู้ใดก็ตามที่ถูกเทวีฮีร่าอาฆาตมาดร้ายหมายหัวเอาไว้ ก็มักจะพบจุดจบที่ดูไม่สวยงามมากเท่าไรนัก  ยกตัวอย่างเช่น ชาวกรุงทรอยที่เมืองทั้งเมืองล่มจมลงไป ก็มีเหตุเพราะความอาฆาตพยาบาทของเจ้าแม่ฮีร่าผู้นี้นี่เอง  โดยสาเหตุของเรื่องราวร้ายกาจครั้งนี้ เกิดจากที่เจ้าชายปารีสแห่งทรอย ไม่ยอมเลือกให้เจ้าแม่เป็นผู้ชนะเลิศในการประกวดความงาม ระหว่าง 3 เทวีแห่งสวรรค์ ได้แก่ เทวีฮีร่า เทวีเอเธน่า และเทวีอโฟรไดที

      รูปวาดหรือรูปสลักที่ชาวกรีกโบราณสร้างขึ้นถวายแก่เจ้าแม่ฮีร่า มักจะพบเห็นว่าเป็นเทวีวัยสาวที่มีความสวยสง่าเป็นอย่างมาก ว่ากันว่าความงามของนางเป็นที่น่าหลงใหลจนเกิดความคลั่งไคล้กับหลายผู้หลายคน โดยเฉพาะอิกซิออน (Ixion) ผู้เป็นราชาแห่ง ลาปิธี (Lapithae) ซึ่งภายหลังก็ถูกเทพซูสลงโทษอย่างร้ายแรง  และด้วยความทรนงคิดว่าตนมีรูปโฉมที่สิริงดงาม จึงทำให้เทวีฮีร่ามักจะเป็นเดือดเป็นร้อนเมื่อสวามีของตนแอบปันใจไปให้หญิงงามคนอื่น ฮีร่าจึงต้องตามราวีหญิงสาวเหล่านั้นจนถึงที่สุดเสมอ  ความร้ายกาจเรื่องความหึงหวงของเจ้าแม่ รุนแรงมากถึงขนาดที่คิดจะปฏิวัติโค่นล้มอำนาจของสวามีเลยด้วยซ้ำ เรื่องมีอยู่ว่า

      เจ้าแม่รู้สึกโกรธในความไม่ซื่อสัตย์ของเทพซูสอย่างเต็มที ฮีร่าจึงได้ขอความร่วมมือกับเทพโปเซดอน ผู้เป็นเชษฐาของเทพซูสเอง  รวมไปถึงเทพอพอลโลกับเทวีเอเธน่าด้วย  ทุกคนรวมหัวกันจับองค์เทพซูสมัดไว้อย่างแน่นหนา  จนเกือบจะทำให้เทพซูสสูญเสียอำนาจอยู่แล้ว  แต่พอดีว่ายังชายาของเทพซูสอีกองค์หนึ่งที่มีชื่อว่า มีทิส (หมายความว่าภูมิปัญญา) ได้เข้ามาช่วยเหลือเทพซูสได้ทันเวลา โดยไปนำตัวอาอีกีออน (Aegaeon) ผู้เป็นอสูรร้อยแขนที่น่ากลัว เข้ามาช่วยเหลือเทพซูสได้อย่างทันท่วงที อสูรตนนี้มีฤทธิ์อย่างมาก จนเทพเทวาทั้งหลายต้องยอมแพ้ไปตาม ๆ กัน เมื่ออาอีกีออนเข้ามาช่วยซูส  จึงทำให้บรรดาผู้คิดคดหนีหน้าหายไปหมด  และแผนการณ์ครั้งนี้ก็ถูกล้มครืนในที่สุด

      เทพซูสเองก็ได้เคยทำเรื่องร้ายกาจกับราชินีเทวีฮีร่าเช่นกัน  โดยเทพซูสได้ลงโทษเจ้าแม่ฮีร่าอย่างไม่ไว้หน้าเช่นกัน  ไม่ว่าจะเป็นการทุบตีอย่างรุนแรง  การใส่โซ่ตรวนที่บาทของเจ้าแม่   หรือการผูกข้อหัตถ์และพาเดินติดกันมัดโยงโตงเตงไปตลอดบนท้องฟ้า  การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดตำนานที่เกี่ยวข้องกับเทพฮีฟีสทัสขึ้นมาว่า  การวิวาทครั้งนี้ของเทพทั้งสององค์ ทำให้เทพฮีฟีสทัสผู้เป็นโอรส ได้เข้ามาขัดขวางไม่ให้พระบิดากระทำ รุนแรงเช่นนี้ต่อพระมารดา ทำให้เทพซูสที่กำลังโกรธจัด  จับตัวฮีฟีสทัสเขวี้ยงตกลงมาจากสวรรค์  และทำให้เทพฮีฟีสทัสกลายเป็นเทพผู้พิการไปในที่สุด

      เทวีฮีร่าไม่ได้แค่ขี้หึงเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยความริษยาอย่างมากอีกด้วย  เมื่อครั้งที่เทพซูสทรงมีราชธิดาที่มีชื่อว่า  เอเธน่า  ผู้กระโดดออกจากเศียรของไท้เธอ  เจ้าแม่ฮีร่าก็เกิดความริษยาแก่ธิดาที่ไม่ใช่ของตนเป็นอย่างยิ่ง และตรัสกับสวามีว่า ในเมื่อสวามีทรงมีกุมารีได้ด้วยองค์เอง  นางนั้นก็สามาถมีบุตรได้ด้วยตัวเองเช่นกัน  แต่ทว่าบุตรที่กำเนิดขึ้นจากตัวเจ้าแม่ กลับมิได้มีรูปที่งดงามตามแบบเอเธน่า  แต่กลับเป็นเพียงอสูรร้ายที่มีหน้าตาแสนน่าเกลียดน่าชังเป็นอย่างยิ่ง (บางตำนานกล่าวว่าบุตรที่จากเทวีฮีร่า มีชื่อว่า ฮีฟีทัส) บุตรผู้นี้มีชื่อว่า ไทฟีอัส (Typheus) จึงทำให้เทพซูสเกิดโกรธกริ้วยิ่งนัก  และเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาทตามมา

      เจ้าแม่ฮีร่า ได้มีโอรสและธิดากับเทพบดีซูสรวม  4 องค์ นามว่า เฮบี้ (Hebe) อิลลิธธียา (Ilithyia) เอเรส (Ares) และฮีฟีสทัส (Hephaestus) ซึ่งเทพ 2 องค์หลังนี้ เป็นที่โด่งดังและรู้จักกันดี เพราะเทพเอเรส ถือเป็นเทพแห่งสงคราม ในขณะที่ เทพฮีฟีสทัส ก็ถือเป็นเทพถลุงเหล็กหรือเทพแห่งงานช่าง

      หากกล่าวถึงชีวิตการสมรสของเจ้าแม่ฮีร่ากับเทพซูสแล้ว ก็คงจะไม่ค่อยราบรื่นเท่าไรนัก แต่สำหรับฐานะที่เจ้าแม่ฮีร่าถือเป็นราชินีหรือเป็นมารดาแห่งสวรรค์ ฮีร่าก็ทำหน้าที่คุ้มครองการแต่งงาน  และมีหลายครั้งที่เธอทำหน้าที่ดลใจให้วีรบุรุษได้แสดงออกถึงความกล้าหาญออกมา  ทำให้เธอถือเป็นที่เคารพนับถือในเขตโอลิมปัสเป็นอย่างมาก  เทวาลัยขนาดใหญ่ที่สุดที่ใช้เป็นที่บูชาของเทวีฮีร่า ตั้งอยู่ที่เมืองอาร์กอส หรือที่รู้จักกันว่า เดอะฮีร่าอีอุม (Heraeum) ส่วนสัตว์สัญลักษณ์ประจำตัวของฮีร่า ก็คือ วัว นกยูง และสิงโต ในขณะที่ต้นไม้ประจำตัวของเจ้าแม่ฮีร่า ก็คือ ผลทับทิมและนกแขกเต้านั่นเอง

ที่มา  http://www.tumnandd.com/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B8%AE%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2-hera-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B8%88%E0%B8%B9%E0%B9%82%E0%B8%99-juno/

Demeter เทพีดีมีเตอร์เทพีแห่งการเกษตร

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Demeter เทพี ดีมีเตอร์ เทพแห่ง การเกษตร

      เทพซูสเทพมีเทวีภคินี 3 องค์ องค์ที่หนึ่ง คือ เจ้าแม่ฮีรา ตามที่เคยได้รู้จักกันไปแล้วก่อนหน้านี้ ส่วนอีกองค์หนึ่งซึ่งเรากำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ก็คือ ดีมิเตอร์ (Demeter) ซึ่งเป็นชื่อเรียกตามภาษากรีก ส่วนภาษาโรมันจะเรียกกันว่า ซีริส (Ceres) เทพีผู้นี้เป็นเทวีครองข้าวโพด  ซึ่งมีความหมายถึง การเกษตรกรรม ด้วยนั่นเอง

      เจ้าแม่ดีมิเตอร์ มีธิดาองค์หนึ่งที่มีชื่อว่า  โพรสเสอพิน (Proserpine) หรือ เพอร์เซโฟนี (Persephone) เธอผู้นี้เป็นเทวีผู้คุ้มครองผลิตผลทางการเกษตรทั้งปวง และเพื่อเป็นการอธิบายกฎแห่งธรรมชาติของการผลัดฤดู กวีกรีกโบราณจึงได้นำเอาเรื่องของธรรมชาติมาผูกกับเรื่องของเทพเจ้า โดยจัดให้เทวีองค์นี้ถูกเทพฮาเดสลักพาตัวไป เป็นมเหสีในยมโลก ดังมีเรื่องเล่าต่อไปนี้

      เทพฮาเดส เป็นผู้ปกครองเมืองยมโลกอย่างโดดเดี่ยวและไร้คู่คิดข้างกายมาโดยตลอด เนื่องจากไม่มีเทวีองค์ใดพอใจที่จะร่วมเทวบัลลังก์กับเทพฮาเดส  เพราะไม่ต้องการที่จะลงไปอยู่ที่ดินแดนใต้บาดาลร่วมกันกับพระองค์ ซึ่งก็คงทำให้เธอนั้นไม่อาจได้รับแสงแห่งดวงสุริยาได้อีกเลย  หรือเรียกว่าไม่มีวันเห็นเดินเห็นตะวันนั่นเอง สุดท้าย เทพฮาเดสจึงต้องตั้งปณิธานขึ้นมาในใจว่า จะไม่ทอดเสน่หาให้แก่ผู้ใดอีกเป็นอันขาด  หากคิดจะปฏิพัทธ์สวาทหรือหลงรักใคร ก็จะฉุดตัวหญิงคนนั้นพาลงบาดาลไปเลยทันที

      วันหนึ่งในขณะที่ เพอร์เซโฟนีและผองเพื่อนกำลังชวนกันเที่ยวเล่นในสวนดอกไม้  และเที่ยวเด็ดดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมเพื่อนำเรียงร้อยเป็นพวงมาลัย  บังเอิญว่าเทพฮาเดสได้ขับรถแล่นผ่านมาพอดี  และได้ยินเสียงสรวลเสเฮฮาของบรรดาสาวๆที่ต่างพากันขับร้องเพลงกันอย่างสนุกสนาน และมีเหล่านางอัปสรสวรรค์ที่ลอยมาร่วมด้วย  เทพฮาเดสจึงได้หยุดรถทรง และลงไปแอบดูสาวๆตามสุมทุมพุ่มไม้ ครั้นเมื่อพบกับเทวีสาวที่มีรูปโฉมงดงาม ก็เกิดนึกรักและหวังจะเอาไปยังยมโลก  เมื่อคิดได้เช่นนั้นก็ไม่รอช้า เทพฮาเดสจึงก้าวกระโดดออกจากพุ่มไม้ออกไปกระชากชิงตัวเพอร์เซโฟนีเทวีขึ้นรถไปในทันที

      เทพฮาเดสรีบเร่งรถไปโดยเร็ว แต่ก็ไปเจอกับแม่น้ำไซเอนี (Cyane) ที่ขวางหน้าอยู่ เขามองเห็นน้ำในแม่น้ำเกิดการปั่นป่วนและขยายจนล้นตลิ่ง เพื่อสกัดกั้นพวกเขาเอาไว้ เทพฮาเดสจึงรีบชักรถหลบไปทางอื่น  และใช้ง่าม 2 แฉก อาวุธคู่หัตถ์กระแทกแผ่นดินให้แยกออกจากกัน จนเกิดเป็นช่องว่างอันกว้างใหญ่ ก่อนจะขับรถหลบหนีลงบาดาลไป  ในขณะเดียวกันนั้นเอง เพอร์เซโฟนีก็พยายามแก้สายที่รัดองค์เอาไว้ แล้วขว้างทิ้งลงในแม่น้ำไซเอนี พลางตะโกนบอกนางอัปสรที่ประจำอยู่ในแม่น้ำให้เก็บหลักฐานนี้ไปถวายแก่เจ้าแม่ดีมิเตอร์ผู้เป็นมารดา นางจะได้ตามมาช่วยได้ถูกต้องและทันเวลา

      เมื่อดีมิเตอร์ผู้เป็นแม่ได้กลับมาจากทุ่งข้าวโพดแล้วไม่พบธิดาของตน  ก็เที่ยวออกไปร้องเรียก แต่ก็ไม่พบเห็นวี่แววใดๆ เว้นเสียแต่ดอกไม้ที่ตกกระจายอยู่เกลื่อนพื้นดิน เจ้าแม่เที่ยวกู่ร้องหาลูกไปทั่วทุกที่จนถึงเวลาเย็นก็ยังไม่พบ  จนเวลาล่วงเลยเข้าสู่ตอนกลางคืน เจ้าแม่ก็ยังไม่หยุดพักการเสาะแสวงหาธิดา  เธอยังคงตามหาธิดาต่อไปอย่างไม่ย่อท้อจนถึงรุ่งอรุณของเช้าวันใหม่ นางดีมิเตอร์เป็นห่วงลูกของตนมากกว่าภาระหน้าที่ใดๆ นางจึงละเลยที่จะที่ปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ดอกไม้ทั้งปวงแลดูเหี่ยวเฉาลงเพราะขาดฝน  พืชพันธุ์ธัญญาหารทั้งหลายก็แห้งตายเพราะถูกแดดแผดเผาไปเสียหมด  ในที่สุด เจ้าแม่ก็นั่งลงพักริมทางใกล้นครอีลูสิสด้วยความรู้สึกสิ้นหวัง ความทุกข์ระทมที่ลูกหายไปเปี่ยมล้นเต็มจิตใจเกินกว่าที่จะหักห้ามใจได้ เจ้าแม่จึงซบพระพักตร์ลงและร้องไห้แต่เพียงผู้เดียว

      นอกเสียจากช่วงเวลาที่นางดีมิเตอร์ตามหาลูกสาวของตนแล้ว ก็ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้าแม่ดีมิเตอร์อีกหนึ่งเรื่อง ดังต่อไปนี้

      เจ้าแม่ดีมิเตอร์ได้แปลงกายเป็นยายแก่เพื่อปิดบังไม่ให้ใครรู้จัก ซึ่งในขณะที่เจ้าแม่กำลังนั่งพักอยู่นั้น  ก็มีเหล่าธิดาของเจ้านครอีลูสิสตามมาหายายแก่ผู้นี้ เพราะรู้มาว่ายายแก่มานั่งคร่ำครวญตามหาลูก เหล่าธิดารู้สึกสงสาร และอยากที่จะทำให้ยายแก่คลายความโศกเศร้าไปบ้าง  เหล่าธิดาจึงได้ออกปากชวนให้ยายแก่เข้าไปในวัง เพื่อให้ไปช่วยดูแลกุมาร ทริปโทลีมัส (Triptolemus) ผู้น้อง ซึ่งในขณะนี้ยังเป็นทารกน้อยอยู่

      เจ้าแม่ดีมิเตอร์ยินยอมที่จะดูแลทรากน้อยผู้นี้ให้  ซึ่งพอเจ้าแม่ได้ลูบคลำโอบอุ้มทารกก็เกิดเหตุการณ์อันแสนวิเศษที่ทำให้ทารกดูเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลมากขึ้น ยังความสงสัยแก่เจ้านครและบริวารเป็นอย่างยิ่ง  พอตกดึก ในขณะที่เจ้าแม่กำลังเลี้ยงดูทารกอยู่ตามลำพัง  เจ้าแม่ก็คิดอยากจะให้ทารกได้มีโอกาสเห็นทิพยภาพเป็นอมรรตัยบุคคลของตน  จึงได้นำเอาน้ำต้อยเกสรดอกไม้ออกมาชโลมกายทารก และท่องมนต์สังวัธยายมนต์ ก่อนจะวางทารกลงบนกองไฟอันแสนเร่าร้อน  เพื่อให้ความร้อนของไฟเผาลามเลียผลาญธาตุมฤตยูที่อยู่ในกายของทารกจนหมดสิ้น

      ส่วนฝ่ายนางพญาผู้เป็นเจ้านคร ก็ยังไม่เชื่อใจยายแก่มากนัก จึงแอบย่องไปคอยสอดส่องตอนกลางคืน และได้เห็นตอนที่เจ้าแม่ดีมิเตอร์กำลังทำพิธีชุบทารกอยู่พอดี  นางพญาเกิดอาการตกใจยิ่งนักที่เห็นทารกของตนถูกเผา จึงส่งเสียงหวีดร้องออกมา  พร้อมกับพยายามฉุดเอาบุตรของตนออกจากกองไฟ  แต่เมื่อเห็นว่าบุตรของตนไม่มีแม้แต่อันตรายอันเล็กน้อย  จึงรีบหันมาเล่นงานถามความจากยายแก่ว่ายายนั้นทำอะไรลงไป แต่แทนที่นางพญาจะเห็นยายแก่ กลับพบเพียงแต่เทวีดีมิเตอร์ที่มีรัศมีเรืองรองอยู่ตรงหน้า  เจ้าแม่เพียงแค่ตรัสพ้อต่อนางพญาอย่างสุภาพ ที่นางพญานั้นได้เข้ามาทำลายพิธีการชุบทารกให้เสียไป และทำให้มนต์เสื่อมลงจนไม่สามารถชุบทารกได้อีกต่อไป  จากนั้น เจ้าแม่ดีมิเตอร์ก็เดินทางจากเมืองอีลูสิสไป เพื่อความหวังที่จะตามหาธิดาของตนให้พบต่อไป

      วันหนึ่ง เจ้าแม่ดีมิเตอร์ได้พเนจรไปในแถบฝั่งแม่น้ำ และได้บังเอิญพบวัตถุแวววาวชิ้นหนึ่งลอยมาติดอยู่ที่บาท  เจ้าแม่จำได้ทันทีว่า ของสิ่งนี้เป็นสายรัดองค์ของธิดา  ซึ่งก็คือสายรัดองค์เส้นเดียวกันกับที่เพอร์เซโฟนีฝากนางอัปสรแห่งแม่น้ำไซเอนีแห่งนี้ไว้   เมื่อเจ้าแม่ได้พบของสิ่งนี้ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความดีใจ เพราะคิดว่าตนกำลังเข้าใกล้ธิดาของตนเองแล้ว  จึงได้รีบดำเนินต่อไปจนไปถึงที่น้ำพุแก้วแห่งหนึ่ง  เจ้าแม่ดีมิเตอร์รู้สึกเมื่อยล้าเป็นอย่างมากจึงนั่งลงทอดองค์ตามสบาย ณ ที่แห่งนี้ ระหง่างที่กำลังรู้สึกเคลิ้มใกล้จะหลับ ก็ได้ยินเสียงน้ำพุฟ่องเฟื่องยิ่งขึ้นราวกับเสียงคำพูดพึมพำ  สุดท้ายเจ้าแม่ก็จับใจความได้ว่า  น้ำพุได้เล่าประวัติของตนเองให้เจ้าแม่ดีมิเตอร์ฟังเพื่อต้องการจะแจ้งข่าวของธิดาของเจ้าแม่ให้ฟังว่า

      เดิมทีแล้ว ตนเป็นนางอัปสรที่มีขื่อว่า แอรีธูซา (Arethusa) และเป็นบริวารของเทวีอาร์เตมิส (Artemis) วันหนึ่ง ขณะที่นางกำลังลงอาบน้ำในแม่น้ำแอลฟีอัส (Alpheus) ก็มีเทพประจำน่านน้ำมาแอบหลงรัก แต่นางไม่เล่นด้วยและรีบหนีไป  แต่เทพองค์นั้นก็รีบตามติดไปอย่างไม่ลดละ  จนนางได้หนีไปจนข้ามเขาไปตลอดแว่นแคว้น  แถมผ่านแดนบาดาลไปตลอดอาณาเขตของฮาเดส  จนได้พบเห็นกับเพอร์เซโฟนีที่ได้ประทับบัลลังก์เป็นราชินีแห่งยมโลกอยู่เคียงข้างเทพฮาเดส แต่พอครั้นจะกลับขึ้นมาดังเดิม ก็เกิดอ่อนแรงกำลังและหนีไม่พ้นเทพแอลฟีอัส  นางจึงเสี่ยงบุญตั้งจิตอธิษฐานเพื่อยึดเอาเจ้าแม่ของนางเป็นที่พึ่ง ทำให้เทวีเดียนาได้บันดาลให้นางได้กลายร่างเป็นน้ำพุอยู่ ณ ที่แห่งนั่นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

      หลังจากที่เจ้าแม่ดีมิเตอร์ได้รับรู้ถึงที่อยู่ของธิดาของตนแล้ว จึงรีบไปขอให้เทพปริณายกช่วยเหลือ  ซูสจึงได้อนุโลมตามคำวอนของเจ้าแม่  แต่มีเงื่อนไขว่า หากเพอร์เซโฟนีไม่ได้เสพเสวยระหว่างที่อยู่ใต้บาดาล จะยอมให้ฮาเดสส่งตัวเพอร์เซโฟนีกลับมาอยู่กับมารดาดังเดิม  จากนั้น ก็มีเทวบัญชาให้เฮอร์มีสช่วยสื่อสารไปยังฮาเดสที่ดินแดนยมโลก  ทำให้เจ้าฮาเดสแห่งแดนบาดาลจำเป็นต้องยอมส่งตัวเพอร์เซโฟนีคืนสู่เจ้าแม่ดีมิเตอร์  แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นเอง ภูตครองความมืดที่มีชื่อว่า แอสกัลลาฟัส (Ascalaphus) ก็ได้ร้องเอ่ยขึ้นมาว่า ราชินีแห่งยมโลกผู้นี้ได้เสวยเมล็ดทับทิมไปแล้ว 6 เมล็ด มิใช่ไม่เคยเสวยอาหารอะไรเลย ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่ตกลงกันว่า ในหนึ่งปี เพอร์เซโฟนีเทวีจะต้องอยู่กับเทพฮาเดสในยมโลกเป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งเท่ากับเมล็ดทับทิมที่เสวยเข้าไปในแต่ละเดือน จากนั้น อีก 6 เดือน นางจะได้กลับขึ้นมาอยู่กับมารดาบนพื้นโลก และจะสลับกันไปเช่นนี้ทุกๆปี

      ทำให้เพอร์เซโฟนีเทวีได้อยู่กับมารดาบนโลกในช่วงเวลาระยะกาลของวสันตฤดู  อันเป็นช่วงเวลาที่พืชพันธุ์ธัญญาหารผลิดอกออกผล  แต่เมื่อเพอร์เซโฟนีเทวีกลับลงไปอยู่ใต้บาดาล ก็จะตรงดับระยะกาลของเหมันตฤดู  ทำให้พืชผลทั้งปวงเหี่ยวเฉา  ตามความเชื่อของชาวกรีกและโรมันโบราณนั่นเอง

      นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่เล่าต่อกันมาสืบเนื่องไปอีก ก็คือ หลังจากที่เจ้าแม่ดีมิเตอร์ได้เจอธิดาของตนเองแล้ว นางก็เดินทางกลับไปยังเมืองอีลูสิสอีกครั้ง เพราะว่าเจ้าผู้ครองนครแห่งนี้และนางพญาได้สร้างวิหารเพื่อไว้ถวายแก่เจ้าแม่แล้ว ซึ่งวิหารแห่งนี้เป็นอนุสรณ์ให้มนุษย์รู้จักกับการทำการเกษตร ทำไร่ ไถนา อีกทั้งเจ้าแม่ยังได้สั่งสอนทริปโทลีมัส ซึ่งในขณะนั้นได้เติบใหญ่เป็นหนุ่มแล้ว  ทำให้เขาเรียนรู้กับการไถนา การใช้จอบและเคียว และถ่ายทอดให้แก่ชาวนาสืบต่อมารุ่นต่อรุ่นยาวนานจนถึงปัจจุบัน

ที่มา  http://www.tumnandd.com/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C-demeter/

Ares อาเรสแทพแห่งสงคราม

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Ares อาเรสแทพแห่งสงคราม

      เทพแอรีส หรือ มาร์ส (Mars) ตามที่ชาวโรมันชอบเรียก ถือเป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม อาวุธ และชุดเกราะ หรือเป็นหนึ่งในสิบสองของเทพโอลิมปัสด้วย

      แอรีส เป็นเทพแห่งสงครามไม่ต่างกับ อธีน่า เพียงแต่อธีน่าจะได้รับการยกย่องมากกว่า เพราะอธีน่าถือเป็นเทพีที่ใช้สมองในการวางแผนสู้รบได้เป็นอย่างดี และทำให้เทพีองค์นี้ได้รับการบูชาในฐานะที่เป็นเทพีแห่งสติปัญญาไปด้วยในเวลาเดียวกัน ในขณะที่ แอรีสเป็นเทพที่นิยมใช้ความดุดันและโหดร้ายมากกว่าการใช้สติปัญญาในการสงครามมากกว่า ดังที่กวีกรีกโบราณคนสำคัญที่ชื่อว่า โฮเมอร์ เคยเขียนถึงเทพแอรีสว่า พระองค์เป็นเทพที่โหดร้ายและหยาบช้ามากองค์หนึ่ง

      แอรีส ได้ลอบเป็นชู้รักกับเทวีอโฟรไดท์ ผู้เป็นบุตรของเทพปริณายกซูสกับเจ้าแม่ฮีรา และเป็นที่น่ารังเกลียดของเทพและมนุษย์ทั้งปวง ยกเว้นแต่เพียงชาวโรมันที่รักในการสงครามเท่านั้น

      ชาวโรมันมีความรักเทิดทูนในเทพองค์นี้เป็นอย่างยิ่ง โดยถึงกับแต่งตั้งให้เป็นเทพบิดาของ โรมิวลัส (Romulus) ผู้สร้างกรุงโรม อีกทั้งยังสรรเสริญความดความชอบของเทพองค์นี้อีกหลายประการ ในทางตรงกันข้าม ชาวกรีก กลับไร้ซึ่งความนิยมเลื่อมใสในเทพองค์นี้เลยแม้แต่น้อย  และยังถือด้วยว่า เธอเป็นเทพที่มีนิสัยดุร้าย ป่าเถื่อน และไร้ความเมตตากรุณา

      ในมหากาพย์อิเลียด ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบทกวีในการสงคราม ก็มีการพูดถึงเทพแอรีสไว้เช่นกัน แต่เธอจะถูดพูดถึงในเชิงเกลียดชังตลอดทั้งเรื่อง นักกวีโฮเมอร์ได้ประณามเธอว่า เทพแอรีส เป็นผู้ที่ยินดีในการประหัตประหาร มีมลทินด้วยเลือด ซึ่งเป็นอุบาทว์สำหรับมนุษย์ทั้งปวง จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ชาวกรีกถือว่าเทพแอรีสเป็นเทพอันธพาลของกรีกเลยก็ว่าได้

      ประวัติของเทพแอรีสกล่าวไว้ว่า เทพอาเรสเป็นหนึ่งในโอรสระหว่างองค์เทพซูสกับเทวีฮีร่า และทรงเป็นโอรสที่ถูกพระบิดาตราหน้าว่า “เจ้าเป็นที่น่ารังเกียจ น่าชัง มากที่สุดในบรรดาลูกของข้าทั้งหมด เจ้าทั้งโหดร้าย และดื้อด้านเหมือนกับแม่เจ้าไม่ผิด!”  ซึ่งก็ถือว่าเป็นคำพูดที่ตรงกับอุปนิสัยใจคอของเทพอาเรสมากที่สุด นอกจากเทพแอรีส จะมีนิสัยดังกล่าวแล้ว อาเรสยังเป็นเทพที่หุนหันพลันแล่น โมโหง่าย และรักในความรุนแรงเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นอุปนิสัยที่แตกต่างกับเจ้าแม่เอเธน่าเป็นอย่างมาก แม้ว่าพระองค์จะเป็นเทวีแห่งสงครามเช่นกัน เพราะเทพเอเธน่านั้นมีลักษณะนิสัยที่สุขุมนุ่มลึก ฉลาด และเต็มไปด้วยความกล้าหาญ ทำให้ได้รับการยกย่องจากมนุษย์และเทพทั้งปวง

      ด้วยเหตุผลที่ว่ามานี้ จึงทำให้เทพอาเรสรู้สึกอิจฉาริษยาเป็นอย่างมาก และตัดพ้อว่า “เหตุใดฟ้าที่ส่งให้อาเรสมาเกิดแล้ว จึงต้องส่งเอเธน่ามาเกิดด้วยเล่า” ทำให้เมื่อทั้งสองต้องพบกันทีไร ก็มักจะเกิดเหตุทะเลาะวิวาทกันเสียทุกครั้งไป ตามตำนาน มีเหตุการณ์การทะเลาะกันที่สำคัญอยู่ครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อทั้งสองไปพบกันกลางทาง และเกิดมีปากเสียงกันอย่างเคย เทพอาเรสโกรธมาก จึงบันดาลโทสะขว้างจักรอันมีฤทธิ์แรงกล้าไม่ต่างกับอสนีบาตขององค์ซูสเทพ เข้าใส่เอเธน่า แต่เจ้าแม่ก็หลบได้ทัน แล้วทรงทุ่มหินที่วางอยู่ข้าง ๆตอบกลับไป แต่พอดีว่าหินก้อนนั้นไม่ใช่หินธรรมดา แต่กลับเป็นหินที่ตั้งไว้เพื่อบอกอาณาเขต  เมื่อหินนั้นกระทบถูกร่างของอาเรส ก็ทำให้อาเรสถึงกับล้มลง เทวีเอเธน่าจึงได้กล่าวเยาะเย้ยเทพแอรีสด้วยว่า “เจ้าโง่! ศึกครั้งนี้ ก็น่าจะทำให้เจ้ารู้ได้แล้วใช่ไหมว่าพละกำลังของเรามีมากขนาดไหน ครางหน้าคราวหลังอย่าคิดจะมารบกวนเราอีกต่อไปเลย!”

      การเป็นเทพแห่งสงครามตามปกติ จะต้องชนะการรบในทุกที่ แต่สำหรับเทพอาเรสแล้วกลับเป็นผลในทางตรงข้าม เพราะเขามักจะปราชัยเสียมากกว่า เพราะนอกจากจะพ่ายแพ้แก่เทวีเอเธน่าแล้ว เทพแอรีสยังพ่ายแพ้ต่อมนุษย์อีกหลายคนด้วย เช่น วีรบุรุษเฮอร์คิวลิส ผู้ที่เคยสังหารโอรสของอาเรสมาแล้ว ส่วนในครั้งที่ผู้เป็นพ่อเข้าช่วยลูก ก็เกือบถูกต่อยตี จนเทพแอรีสต้องหลบหนีไปยังโอลิมปัสแทบไม่ทัน เมื่อเรื่องดังกล่าวถึงหูเทพซูส ไท้เธอก็ตัดสินให้เลิกลากันไป เพราะ เฮอร์คิวลิสก็ถือเป็นโอรสของเทพซูสเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าเขานั้นมีมารดาเป็นเพียงแค่มนุษย์สามัญเท่านั้น

      เทพอาเรสเดินทางไปไหนต่อไหนได้โดยรถศึกเทียมม้าที่มีฝีเท้าจัดมากมาย และมีแสงเกราะและแสงศาตราวุธของเธอเป็นอาวุธคู่กาย ที่คอยส่องแสงสว่างเจิดจ้าบาดตาบุคคลผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก เทพแอรีสมีบริวารคู่ใจที่คอยตามติดอยู่ 2 คน ได้แก่ เดมอส (Deimos) ที่หมายความว่าความกลัว กับ โฟบอส (Phobos) ที่หมายความว่า น่าสยองขวัญ บางตำนานกล่าวว่าบริวารทั้งสองนี้ถือเป็นโอรสของเทพอาเรส ส่วนในเชิงดาราศาสตร์ หากตั้งชื่อดาวอังคารว่า มาร์ส ตามชื่อเทพแห่งสงครามแล้ว จึงมีการก็ตั้งชื่อดวงจันทร์ที่เป็นบริวารที่โคจรอยู่รอบดาวอังคารทั้งสองดวงว่า เดมอส กับ โฟบอส ตามไปด้วย

      อาเรสก็มีตำนานด้านความรักเหมือนเทพองค์อื่นๆ เขาได้เร่ร่อนหารักไปเรื่อยๆในโอลิมปัส แต่ไม่ได้ยกย่องให้ใครเป็นชายา อย่างไรก็ตาม มีเรื่องราวความรักของอาเรสที่สำคัญอยู่ครั้งหนึ่ง เรื่องราวนี้เกิดขึ้นตอนที่ได้ลักลอบไปเป็นชู้กับเทวีแห่งความงามและความรัก ที่มีชื่อว่า อโฟรไดท์

      การที่เทพอาเรสเป็นที่รังเกียดของเทพและมนุษย์ชาวกรีก พฤติการณ์ความรักการลอบเป็นชู้กับเทวีอโฟรไดท์ครั้งนี้ จึงเป็นที่ดูถูกดูแคลนและถูกกล่าวหาอย่างรุนแรงจากมวลเทพที่คิดจะจ้องจับผิดด้วย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก็เพราะความมืดในราตรีกาล หากยังไม่มีใครทราบเรื่องหรือจับผิดได้แบบคาหนังคาเขา พฤติการณ์ลักลอบเป็นชู้ของเธอก็จะยังคงถูกเก็บเป็นความลับเรื่อยมา แต่เหตุเพราะเธอเกรงกลัวแสงสว่าง ซึ่งเปรียบได้กับนักสืบของเทพอพอลโล ถ้านักสืบผู้นี้แฉพฤติการณ์ความผิดของเธอให้เทพอพอลโลรับรู้ เทพอพอลโลก็คงจะนำเรื่องราวไปทูลบอกแก่เทพฮีฟีสทัสอย่างแน่นอน เธอจึงได้จ้างยามหนุ่มน้อยไว้คนหนึ่ง เขามีนามว่า อเล็กไทรออน (Alectryon) เพื่อให้คอยปลุกเธอเมื่อตอนใกล้รุ่งนั่นเอง

      แต่เมื่อครั้งที่ความแตก ก็เป็นเพราะอเล็กไทรออนเผลอหลับเพลินจนถึงรุ่งเช้า ทำให้เทพอพอลโลได้เห็นความจริงว่าอาเรสกับอโฟรไดท์ได้หลับอยู่ด้วยกัน เทพอพอลโลโกรธมาก จึงนำเรื่องนี้ไปบอกแก่เทพฮีฟีสทัส ฮีฟีสทัสลงโทษโดยการนำร่างแหเหล็กที่เคยเตรียมสานไว้ก่อนหน้านี้  มาทอดครอบไปยังอาเรสกับอโฟรไดท์ แล้วให้เทพทั้งปวงมาร่วมกันดูแคลน และหัวเราะร่วนกันอย่างสนุกสนานครื้นเครง ก่อนจะปล่อยตัวทั้งสองไป ฝ่ายอาเรสก็รู้สึกอัปยศอดสูกับการโดนประจานต่อหน้าธารกำนัลครั้งนี้ยิ่งนัก และได้สาปให้อเล็กไทรออนกลายเป็นไก่ เพื่อทำหน้าที่คอยขันปลุกคนในยามใกล้รุ่งทุกเช้า เพื่อเป็นการลงโทษที่เขาแอบหลับยามจนนำความพินาศมาสู่เทพแอรีสนั่นเอง ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อกันว่า ไก่ผู้ทุกตัวที่เกิดขึ้นบนโลก ได้รับการสืบสกุลมาจากไก่อเล็กไทรออนตัวนี้ทั้งสิ้น

      ส่วนเทวีอโฟร์ไดท์ ก็ได้ประสูติธิดาออกมาองค์หนึ่งมีชื่อว่า อาร์โมเนีย ซึ่งในเวลาต่อมา นางก็ได้เป็นราชินีแห่งนครธีบส์

ที่มา  http://www.tumnandd.com/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%AA-ares-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD-mars/